แฉระเบิดเสาไฟฟ้า 6 เม.ย.ส่งแผ่นปรินท์วงจรจากประเทศเพื่อนบ้าน
ตำรวจพบหลักฐาน "แผ่นปรินท์วงจร" ที่ใช้ในการประกอบระเบิดทำลายเสาไฟฟ้ากว่า 50 ต้น กระจายใน 19 อำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อกลางดึกวันที่ 6 เม.ย.60 ถูกส่งมาจากประเทศมาเลเซีย
เอกสารสรุปข้อสั่งการจากการประชุมทางไกลของนายตำรวจระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า จากการตรวจสอบวัตถุพยานในที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้ามากกว่า 50 ต้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อคืนวันที่ 6 เม.ย. พบว่าแผ่นปรินท์วงจรที่ใช้ในการประกอบระเบิดถูกส่งจากประเทศมาเลเซียทางเรือ เข้าพื้นที่เขตไทยทางด้าน อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
นอกจากนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้ทุกสถานีตำรวจในสังกัด ศชต. ตรวจสอบร้านจำหน่ายท่อเหล็กทุกร้าน เพื่อหาเบาะแสของคนร้าย เพราะเชื่อว่าท่อเหล็กที่ใช้ ซื้อในฝั่งไทย ก่อนนำมาประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง
สำหรับแผ่นปรินท์วงจร หรือ PCB (Print Circuit Board) เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนแผนที่ทางเดินสัญญาณไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นเชื่อมต่อกันได้ และวงจรสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ออกแบบไว้ โดยแผ่นปรินท์วงจรจะเป็นแผ่นฉนวนบางๆ มีทั้งแผ่นวงจรที่พิมพ์ไว้แล้วแบบอเนกประสงค์ ผู้ใช้เพียงใส่ขาอุปกรณ์แล้วโยงอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยสายทองแดงตามที่ออกแบบ ก็เป็นอันใช้ได้ กับอีกแบบหนึ่งเป็นแผ่นวงจรพิมพ์เปล่า หรือแผ่นปรินท์ ซึ่งต้องลงลายแล้วกัดปรินท์เอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วคนร้ายสามารถหาซื้อวงจรสำเร็จรูปเพื่อนำไปประกอบระเบิดได้เลย เช่น วงจรรีโมทคอนโทรล หรือวงจรวิทยุสื่อสาร แต่เมื่อซื้อไปแล้วต้องนำไปดัดแปลงอีกครั้งหนึ่งให้ใช้สำหรับวัตถุระเบิดแสวงเครื่องเท่านั้น และมีราคาแพง ประกอบกับสามารถถูกเจ้าหน้าที่ตามรอยได้ง่าย และระยะหลังการหาซื้อวงจรลักษณะนี้อาจถูกจับตามากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนร้ายจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีสั่งซื้อแผ่นปรินท์วงจร หรือให้เครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบในมาเลเซียจัดส่งแผ่นปรินท์วงจรที่ออกแบบสำหรับประกอบระเบิดมาแล้ว เพื่อให้แนวร่วมทางฝั่งไทยใส่ขาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เอาเอง ตามทางเดินสัญญาณไฟที่ออกแบบเอาไว้
มีรายงานว่าฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลกับข้อมูลแผ่นปรินท์วงจรที่พบ เพราะเชื่อว่าเป็นการออกแบบเฉพาะสำหรับการประกอบวงจรระเบิด โดยใช้คอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า "โปรแกรม คอนโทรล" ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ทางเทคโนโลยี แต่หากมีการพัฒนาองค์ความรู้ ก็จะทำให้คนร้ายสามารถออกแบบวงจรระเบิดได้หลากหลายมากขึ้น และยกระดับไปใช้ประโยชน์ในมิติอื่นๆ ได้อีก