“นี่ครู : หนี้ครู” แก้ปัญหาหนี้ของครูหรือความเสียหายของกองทุนฯ
โครงสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. เป็นความร่วมมือระหว่าง 'สำนักงาน ช.พ.ค.' (ตามมาตรา 4 พ.ร.บ. การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ไม่ใช่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.) กับ 'ธนาคารออมสิน' มีนิติกรรมผูกพันตามโครงการฯที่สำคัญอยู่สองส่วนคือ
1) สัญญากู้ระหว่างธนาคารออมสิน เจ้าหนี้ กับ สมาชิก ช.พ.ค. ลูกหนี้
2) MOU ระหว่าง 'สำนักงาน ช.พ.ค.' โดยประธานกรรมการ ช.พ.ค. กับ 'ธนาคารออมสิน'
ใน MOU ธนาคารออมสิน ได้คืนดอกเบี้ยที่สมาชิกชำระกลับคืนให้
'สำนักงาน ช.พ.ค.' ตามมาตรา 19 (ข) พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ร้อยละ 1 บาท เพื่อ
1) จ่ายเป็นเงินค่าจ้างให้กับ “หน่วยงานผู้เบิก”และ 'สำนักงาน ช.พ.ค.' ในการหักเงินชำระรายเดือนคืนให้กับธนาคารออมสิน
2) เป็นหลักประกันให้กับธนาคารออมสิน กรณีที่สมาชิกค้างชำระเกินกว่าสามงวดติดต่อกัน และ
3) ส่วนที่เหลือนำไปพัฒนาสมาชิก(ผู้กู้) และกิจการ ช.พ.ค.
'สำนักงาน ช.พ.ค.' ได้นำดอกเบี้ยส่วนที่รับจากธนาคารออมสินตาม MOU ดังกล่าวคืนให้กับสมาชิกโดยการลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 0.50 บาท ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 0.50 บาท นำไปใช้ประโยชน์ตาม MOU โดยการจัดตั้ง 'กองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค.' ขึ้นมาบริหารจัดการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยมี 'ประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ' มาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 3 คน ดังนี้
1) นายเกษม กลั่นยิ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2558
2) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2559 และ
3) ดร. พิษณุ ตุลสุข ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2559 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อสมาชิก “ครู” ผู้กู้มีปัญหาและขาดการชำระหนี้ติดต่อกันเกินกว่าสามเดือน
ธนาคารออมสินจึงใช้สิทธิตามข้อ 2 ของ MOU โดยการหักเงินจากดอกเบี้ยที่ต้องคืนให้กับกองทุนฯ ในแต่ละเดือน ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2559 เงินกองทุนฯ ถูกหักเพื่อชำระหนี้แทน “ครู” ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 8,100 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน (เจ้าหนี้)ไม่เดือดร้อน เนื่องจากยังสามารถรับชำระหนี้โดยหักเอาจากกองทุนฯ กรณีจึงไม่มีเหตุต้องไปฟ้องสมาชิกที่ผิดนัดชำระ ส่วน 'ครู” ที่ผิดนัดชำระก็ยังไม่เดือดร้อนก็เพราะยังไม่ถูกธนาคารออมสินฟ้อง แต่ที่เดือดร้อนเป็นอย่างยิ่งคือ "กองทุนฯ" เงินกว่า 8,100 ล้านบาท ที่จ่ายหนี้แทน “ครู” ไปก็ไม่อาจเรียกคืนได้แม้แต่บาทเดียว เพราะ “กองทุนฯ” ไปชำระหนี้แทนโดยที่ “ครู” ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้ร้องขอและก็ไม่ได้มีนิติกรรมใด ๆ ผูกพันกันไว้ ภาษากฎหมายเรียกว่า “สอดรับเข้าไปชำระหนี้แทนด้วยใจสมัคร” จึงไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ในทางกฎหมายเพื่อเรียกคืนเอาจาก “ครู” ได้
เพื่อสร้างผลงานด้วยหวังว่าจะได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งเป็น 'เลขาธิการ สกสค.' ตัวจริง 'ดร.พิษณุ ตุลสุข' จึงต้องหาทางลดความเสียหายของกองทุนฯ โดยการเปิดโครงการ “ตามหาครูที่จนที่สุดของแต่ละจังหวัดจนถึงระดับประเทศ” แล้วจะขอเงินจาก “กองทุนฯ” สัก 1,000 ล้านบาท (โครงการแรก) มาปล่อยกู้ให้ครูกลุ่มนี้ซึ่งเป็นหนี้เสีย
NPL (Non-Performing Loan) ที่กองทุนฯได้ใช้หนี้แทนไปก่อนแล้ว ซึ่งตามภาษาการธนาคารเรียกว่า “ซื้อหนี้ NPL” จากธนาคารออมสิน มาบริหารจัดการเอง แต่ก็มีความเสี่ยงสูง
จึงปล่อยเงินกู้ให้กับ 'สหกรณ์ออมทรัพย์ครู' ไปปล่อยต่อให้กับ “ครู” เพื่อให้ครูชำระหนี้คืนกลับให้กับธนาคารออมสิน กรณีเท่ากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไปซื้อหนี้ NPL จากธนาคารออมสินมาบริหารจัดการเอง
ธนาคารออมสินก็จะรับชำระหนี้เพียงส่วนที่ยังคงค้างเหลืออยู่ และคืนส่วนที่หักเงินไปจากกองทุนฯ ตามข้อ 2 ของ MOU ก่อนหน้านี้คืนให้กับกองทุนฯ หากดำเนินการได้ตามเป้า ก็จะลดความเสียหายของกองทุนฯได้ถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนครูก็ยังเป็นลูกหนี้เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเจ้าหนี้จาก 'ธนาคารออมสิน' เป็น 'สหกรณ์ออมทรัพย์ครู' เท่านั้น
“กองทุนฯ” ได้เงินที่ชำระหนี้แทนครูไปกว่า 8,100 ล้านบาทคืนมาบางส่วน สำหรับเงินที่ปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไปซื้อหนี้ NPL จากธนาคารออมสิน ก็ไม่มีความเสี่ยงเนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีหลักประกันที่มั่นคงและเป็นลูกหนี้ชั้นดี
'สหกรณ์ออมทรัพย์ครู' มีแต่ความเสี่ยงที่ไม่คุ้มกับส่วนต่างของดอกเบี้ยจากการบริหารจัดการเนื่องจากรับซื้อหนี้เสีย NPL (Non-Performing Loan) มา และ “ครู” ยังเป็นลูกหนี้เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเจ้าหนี้จาก 'ธนาคารออมสิน' มาเป็น 'สหกรณ์ออมทรัพย์ครู'
แต่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคือ หากยังคงเป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสินตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. แม้ผิดนัดก็ยังมีกองทุนฯชำระแทนไปเรื่อย ๆ และ “กองทุนฯ” ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเพราะไม่มีนิติกรรมผูกพันใด ๆ ระหว่าง “ครู” กับ “กองทุนฯ”
'เสือ เขาอ้อ' ทำได้เพียงอธิบายข้อกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น กรณีนี้เป็นเรื่องที่ "สหกรณ์ออมทรัพย์ครู" และ "ครู" ต้องตัดสินใจกันเอาเอง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์