จี้กรมทรัพยากรน้ำฯร่วม สพฐ.แก้ปัญหาโครงการน้ำบาดาล คัด ร.ร.ที่พร้อม-บริหารได้
เปิดหนังสือ สตง. ชง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จี้ให้ประสานงานกับ สพฐ. แก้ไขปัญหาโครงการน้ำบาดาลโรงเรียน 4 พันล้าน ชี้ให้คัดเลือกโรงเรียนที่พร้อม บริหารจัดการได้ สุ่มตรวจคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน WHO หลังสูญเงินไปแล้ว 59 ล้าน
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบโครงการแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จำนวน 3,178 แห่ง วงเงินกว่า 4,003 ล้านบาท พบปัญหาหลายประการ เช่น ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ขาดประสิทธิภาพในการบริหาร บางแห่งไม่ได้ขาดแคลนน้ำอย่างจริงจัง โดยเบื้องต้นพบว่าสูญเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 59 ล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ : แค่ต้องการลดค่าน้ำ! เจาะผลสอบ สตง.โครงการน้ำบาดาล ร.ร. 4 พันล., งบทำน้ำบาดาลดื่มได้ ร.ร. 4 พันล.ไม่คุ้มค่า! สตง.ชี้สูญเปล่าแล้ว 59 ล., ไร้หลักเกณฑ์เลือก-ไม่ได้คำนึงความต้องการ! สตง.จี้ทบทวนโครงการน้ำบาดาล ร.ร.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ข้อเสนอแนะของ สตง. ที่ส่งไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับหนังสือ สตง. ที่ส่งไปที่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุว่า ต้องกำหนดแนวทางการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรงในปีงบประมาณต่อไปให้ชัดเจน โดยกำหนดเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญและสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินโครงการ เพื่อสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต (สทบ.) ต่าง ๆ ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเป็นแนวทางเดียวกัน และให้ทบทวนจำนวนโรงเรียนเป้าหมายที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการในอนาคต โดยร่วมกับ สพฐ. และหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการดำเนินการสำรวจปัญหาขาดแคลนน้ำดังกล่าว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการสำรวจ และคัดเลือกเข้าร่วมโครงการตามความรุนแรงของสภาพปัญหาต่อไป
พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ สทบ. เขต ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานต้นสังกัดร่วมกันพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ โดยนำรายชื่อโรงเรียนตามข้อ 3 มาเรียงลำดับตามสภาพความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนน้ำ นโยบายการยุบรวมโรงเรียนของ สพฐ. รวมถึงความพร้อมและศักยภาพในการบริหารจัดการของโรงเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดังกล่าว ตลอดจนให้ความสำคัญกับแบบสำรวจของโครงการซึ่งมีข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้พิจารณาด้วย
สตง. ยังมีข้อเสนอแนะทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้โรงเรียนมีรายได้จากการผลิตน้ำประปาดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยพิจารณารูปแบบโครงการที่เหมาะสมให้กับโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ และควรคำนึงถึงความต้องการ จำนวนนักเรียน และบุคลากร ตลอดจนความพร้อมในการบริหารจัดการของโรงเรียน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์ คุ้มค่า และไม่เป็นภาระในการบริหารจัดการของโรงเรียน ทั้งนี้หากต้องการผลิตน้ำดื่มเพื่อสร้างรายได้ ควรกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดให้การรับรอง และจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่า จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน โดยมีเงื่อนไขว่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน กรณีไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขได้
นอกจากนี้อาจพิจารณาปรับปรุงรูปแบบอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำของโครงการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนและบุคลากรจำนวนมาก แต่ไม่มีความประสงค์จะผลิตน้ำดื่มจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ เช่น การปรับลดพื้นที่ในส่วนของห้องล้างอุปกรณ์ และห้องเก็บภาชนะก่อนล้างภาชนะหลังบรรจุ ตลอดจนศึกษาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง เพื่อนำมาใช้ในโครงการ
พร้อมกันนี้ยังเสนอให้พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ระบบประปาบาดาล และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำของโรงเรียนที่ถูกยุบรวม และโรงเรียนที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์ระบบดังกล่าว และจัดให้มีการแผนการอบรม ทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพน้ำให้กับผู้บริหาร และบุคลากรของโรงเรียนเพื่อให้เกิดการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
และยังกำชับให้ติดตามประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งการให้ สทบ. จัดทำแผนการติดตามประเมินผลโครงการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการใช้งานระบบ โดยร่วมกับโรงเรียนดังกล่าวแก้ไขปัญหาให้ทันเวลา และนำผลการตรวจสอบของ สตง. กรณีดังกล่าวเป็นข้อมูลประกอบศึกษาด้วย
นอกจากนี้ สตง. ยังเสนอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประสานงานกับ สพฐ. เพื่อจัดประชุมทบทวนบทบาทหน้าที่ในการให้ความสนับสนุนโรงเรียนด้านต่าง ๆ เพื่อให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ประโยชน์ระบบประปาบาดาลได้อย่างยั่งยืน รวมถึงกำหนดแนวทางการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ตามหลักวิชาการ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และแนวทางการแก้ไข กรณีผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2560 นางอรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลทราบผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวจาก สตง. แล้ว และหลังการหยุดยาวช่วงสงกรานต์ เตรียมจะประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการโครงการดังกล่าว
นางอรัญญา กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยอมรับว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่เสมอ เดิมมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบสภาพน้ำ และแนะนำอบรมให้ความรู้ รวมถึงตรวจสอบผลการดำเนินโครงการดังกล่าว และให้การช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมเครื่องมือต่าง ๆ แต่ยอมรับว่าบางโรงเรียนไม่ได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดไว้ เนื่องจากปัญหา และอุปสรรคหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน
อ่านประกอบ : รองอธิบดีฯรู้แล้วถูก สตง.สอบโครงการน้ำบาดาล ร.ร.-ถกแก้ปัญหาหลังสงกรานต์