คดียึดทรัพย์ 168 ล.'เกษม' หุ้นเอ็มลิงค์’หญิงชื่อ‘วิรัญ’โผล่-อธิบายไม่ได้
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม!คดียึดทรัพย์ 168 ล. ‘เกษม นิมมลรัตน์’อดีต ส.ส. เชียงใหม่ ที่มาของเงินขายหุ้นเอ็มลิงค์ หุ้น อ้างซื้อนอกตลาดจาก ‘วิรัญ เขื่อนเพชร’ ผ่าน ‘สุนิสา ปฐมพฤกษ์’อธิบายที่มาของเงิน5.4 ล.ไม่ได้ (ตอน 3)
คดีนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์สิน 7 รายการ มูลค่า 168,453,245.70 บาท (คดีหมายเลขแดงที่ อม.44/2560)
กรณีของหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในชื่อนางบุญทอง สุภารังษี ผู้คัคค้านที่ 2 (มารดานายเกษม) จำนวน 20,612,770 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 3.60 บาท มูลค่า 74,205,972 บาท และอยู่ในชื่อของนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ ผู้คัดค้านที่ 1 (ภรรยานายเกษม) ที่ขายไปแล้ว จำนวน 923,000 หุ้น มูลค่า 3,015,214.34 หุ้น เป็น 1 ใน 7 รายการที่ศาลฎีกาฯพิพากษายึดตกเป็นของแผ่นดิน
ในการต่อสู้คดี นายเกษมอ้างว่าที่มาของทรัพย์ดังกล่าวมาจากเงินกู้ยืมจาก นางบุญทอง มารดา จำนวน 72 ล้านบาท โดยมารดาก็มีเงินสดเก็บไว้ในบ้านประมาณ 100 ล้านบาท และเงินสดดังกล่าวมาจากรายธุรกิจโรงสีข้าวและโรรงานน้ำแข็ง และบุคคลอื่นมอบให้ตอนเลิกธุรกิจ แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน
(อ่านประกอบ: คดียึดทรัพย์ ‘เกษม’ 168 ล. : น้องสาว‘ภูมิธรรม’ แนะนำซื้อหุ้น วินโคสต์)
คราวนี้มาดูประเด็นหุ้น บริษัทเอ็มลิ้งค์เอเชียคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กันบ้าง?
@ปมเงินขายหุ้นเอ็มลิงค์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเงินได้จากการขายหุ้นบริษัทเอ็มลิ้งค์เอเชียคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ของผู้คัดค้านที่หนึ่งจำนวน 4,187,700 หุ้นเป็นเงิน 5,471,063.98 บาทเป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติในระหว่างการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่
นางสาวเสาวลักษณ์(นางสาวเสาวลักษณ์ฉัตรดวงเด่น เจ้าพนักงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.)พยานผู้ร้องเบิกความในการไต่สวนของศาลว่าหุ้น บริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ดังกล่าวผู้คัดค้านที่หนึ่งนำเข้าฝากขายในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2553 ถึงวันที่ 19 ต.ค.2553 ได้เงินจากการขายหุ้นดังกล่าวรวม 5,407,163.98 บาท และผู้คัดค้านที่หนึ่งถอนเงินออกจากบัญชีไปก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้น จากตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และจากการตรวจสอบบัญชีที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ส่วนนี้ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2553 ถึงวันที่ 28 ม.ค.2553 คงพบเพียงหลักฐานว่ามีการถอนเงินออกจากบัญชีตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.2553 ถึงวันที่ 19 ต.ค.2553 จำนวน 5,507,163.98 บาทแต่ไม่ปรากฏว่ามีการถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวมาเพื่อซื้อหุ้น บริษัท เอ็มลิ้ง เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)แต่อย่างใดและทรัพย์สินในส่วนนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่หนึ่งนำเงินรายได้จากที่ใดมาซื้อหุ้น
@ซื้อนอกตลาดหลักทรัพย์ผ่าน ‘สุนิสา’ อีก
ผู้ถูกกล่าวหานำพยานเข้าไต่สวนอ้างว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่ผู้คัดค้านที่หนึ่งซื้อนอกตลาดหลักทรัพย์จาก น.ส.วิรัญ เขื่อนเพชร ผ่านนางสุนิสา ปฐมพฤกษ์ จากนั้นนำเข้าฝากขายในตลาดหลักทรัพย์โดยเป็นการลงทุนตามปกติของผู้คัดค้านที่หนึ่งเงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริตจากหลายส่วนทั้งเงินเก็บสะสมและรายได้ทางอื่นได้ระคนปนกันไปกับการซื้อขายหุ้นอื่นและการใช้จ่ายภายในครอบครัว ไม่อาจแยกรายการได้ชัดเจนเนื่องจากไม่ได้จัดทำบัญชีบันทึกรายละเอียดเพื่อนนำมาตรวจสอบทบทวนแต่ละรายการย้อนหลังไปนานกว่าห้าปีได้
เห็นว่าตามทางไต่สวนของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้อธิบายถึงแหล่งรายได้อันเป็นที่มาของเงินที่นำมาซื้อหุ้นและเมื่อพิจารณาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระหว่างการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาพบว่ามีรายได้รวม 1,316,153.35 บาทและผู้คัดค้านที่หนึ่งมีรายได้รวม 2,448,378 บาทเห็นได้ว่ารายได้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ต่ำกว่าจำนวนเงินลงทุนในส่วนนี้ แม้ผู้คัดค้านที่หนึ่งจะเบิกความว่าเป็นการลงทุนตามปกติแต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเงินที่ลงทุนเพิ่มขึ้นได้มาจากเหตุใดเมื่อเงินได้มีจำนวนมากถึง 5,407,163.98 บาทการเบิกความลอยๆว่านำเงินได้จากการเก็บสะสมรวมกับเงินรายได้ทางอื่นมาลงทุนซื้อหุ้นนั้นยังไม่พอฟังว่าเงินที่นำมาลงทุนเป็น ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีอยู่เป็นปกติ
ดังนั้นเงินได้จากการขายหุ้น บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่นจำกัดมหาชนจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 มาตรา 4
@ พ่วงเงินลงทุน16 รายการ ช่วงนั่งที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ในกรณีผลจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มูลค่ารวม 8,585,953.02 บาทเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่
ทางไต่สวนพยานผู้ร้องได้ความว่าจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พบว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่1 มีเงินลงทุนอันเป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็กจำกัด โดยเป็นเงินลงทุนในหุ้นหลายรายการดังนี้
เงินลงทุนของผู้ถูกกล่าวหาในบริษัทหลักทรัพย์อาร์เอสบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด ได้แก่
(1) หุ้น N-park จำนวน 15,034,854 หุ้น ราคาหุ้นละ 0.03 บาทมูลค่า 451,045.62 บาท
(2)NFC จำนวน 9,870 หุ้น ราคาหุ้นละ 1.36 บาท มูลค่า 13,423.20 บาท
เงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 1 ในบริษัท หลักทรัพย์ อาร์เอชบี(ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด มูลค่ารวม 8,121,484.20 บาท ได้แก่หุ้น
(1) หุ้น DEMCO-W จำนวน 20,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1.60 บาทมูลค่า 32,000 บาท
(2) หุ้นHTC จำนวน 200,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 5.60 บาท มูลค่า 1,120,000 บาท
(3) หุ้น LIVE จำนวน 2,800 หุ้น ราคา 0.29 บาทมูลค่า 812 บาท
(4)หุ้น LIVE –W1 จำนวน 5,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 0.09 บาทมูลค่า 450 บาท
(5) หุ้น N-PARK จำนวน 15,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 0.03 บาทมูลค่า 450,000 บาท
(6) หุ้น TGCI จำนวน 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 5.68 บาท
(7) หุ้น EARTH จำนวน 2,100 หุ้น ราคาหุ้นละ 4.68บาท มูลค่า 9,828 บาท
(8) หุ้น HTC จำนวน 550,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 5.60 บาท มูลค่า 3,080,000 บาท
(9) หุ้น PARTL (ที่ถูก PATKL) จำนวน 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 0.40 บาทมูลค่า 40,000 บาท
(10) หุ้น CCP จำนวน 200,000 บาท ราคาหุ้นละ 2.88 บาท มูลค่า 576,000 บาท
(11) หุ้น N-Park จำนวน 30,969,710 หุ้น ราคาหุ้นละ 0.02 บาท มูลค่า 619,394.20 บาท
(12) หุ้น PT จำนวน 200,000 บาทราคาหุ้นละ 3.76 บาท มูลค่า 752,000 บาท
(13) หุ้น TGCI จำนวน 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 5.15 บาท 515,000 บาท
(14) หุ้น TURE จำนวน 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 4.16 บาท มูลค่า 416,00 บาท
@ 8.5 ล. แจงที่มาไม่เคลียร์
จากการตรวจสอบของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า เงินที่นำมาลงทุนในส่วนนี้เป็นเงินลงทุนภายหลังจากการขายหุ้น บริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด(มหาชน) แล้วโดยผู้คัดค้านที่ 1 (นางดวงสุดา) ซึ่งไม่สามารถแยกแยะต้นทุนหรือกำไรได้และจากหนังสือชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาที่ยื่นต่อผู้ร้อง ตามหนังสือขอชี้แจงรายการทรัพย์สินเพิ่มเติม ระบุว่าหลังจากผู้คัดค้านที่1 ขายหุ้นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ในปี 2553 ถึงปี 2554 แล้วได้นำกำไรที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวประมาณ 12,271,881.18 บาท เมื่อตามทางไต่สวนของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่นำสืบว่าเงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริตจากหลายส่วน ทั้งเงินเก็บสะสมและรายได้ทางอื่นได้แต่คนปนกันไปกับการซื้อขายหุ้นและการใช้จ่ายภายในครอบครัวซึ่งไม่อาจแยกไหนได้ได้ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้ทำบัญชีบันทึกรายละเอียดเพื่อนำมาตรวจสอบทบทวนแต่ละรายการย้อนหลังไปนานเช่นเดียวกับ ข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่1ในกรณีอื่นดังกล่าวข้างต้น ข้อนำสืบดังกล่าว ก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดที่มีเหตุผลเพียงพอในส่วนของเงินลงทุนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่หนึ่งในหลักทรัพย์ดังกล่าวซึ่งมีมูลค่ารวม 8,585,953.020 บาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากทุรกรรมที่เป็นปกติโดยมีที่มาของเงินและที่ใช้ไปของเงินที่สามารถอธิบายให้เชื่อได้ว่าเป็นการลงทุนตามปกติสมฐานะทางการเงินของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่1 ประกอบกับเมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วเงินได้จากการขายหุ้น บริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติการนำเงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าวมาลงทุนซื้อหุ้นในส่วนนี้จึงเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นโดยผิดปกติ
สำหรับ น.ส.วิรัญ เขื่อนเพชร มีบ้านอยู่แถวปทุมธานีก่อนหน้านี้เคยปรากฎเป็นข่าวว่าเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจกลุ่มที่มีทายาท‘วงศ์สวัสดิ์’ถือหุ้นใหญ่ 3 บริษัทมูลค่าเกือบ 30 ล้านบาท
อ่านประกอบ:
เปิดฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล.‘เกษม’- หุ้น‘วัฒน์ชัย’ 72 ล. ไม่เคลียร์
ศาลฎีกาฯเปิดคำพิพากษาฉบับเต็มคดียึดทรัพย์‘เกษม’168 ล. -ชื่อ 3 บิ๊กธุรกิจโผล่
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายเกษม จาก thairath