สธ.เผยผลเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ผู้ประสบเหตุช่วงสงกรานต์ 2 วันแรก 1 ใน 4 เป็นเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี
สธ.เผยผลการเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่กรณีประสบเหตุช่วงสงกรานต์ 2 วันแรก 1 ใน 4 เป็นเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ส่วนนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” 1-12 เมษายน มีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเข้าระบบ 1,123 ราย เข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินสีแดง 458 ราย 12 เมษายนวันเดียว มีจำนวน 119 ราย เข้าเกณฑ์ 42 ราย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว ผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในรอบ 2 วันตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน 2560 ว่า สถิติอุบัติเหตุในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 12 เมษายน 2560 เกิดอุบัติเหตุ 586 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 630 คน เสียชีวิต 48 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เมาสุรา ร้อยละ 42.32 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 30.38 ยอดรวม 2 วันตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน มีอุบัติเหตุสะสม 995 ครั้ง บาดเจ็บสะสม 1,049 คน เสียชีวิต 82 ราย จังหวัดที่บาดเจ็บสะสมสูงสุดคือเชียงใหม่ 48 คน เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือนครราชสีมา 6 ราย
ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 11-13 เมษายน 2560 ณ เวลา 08.00 น.มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัด 7,263 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสนอนพักรักษาในโรงพยาบาล 1,222 ราย โดยมีการดื่มสุรา 2,012 คน คิดเป็นร้อยละ 26 ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 18.34 ของผู้ที่ดื่มสุราทั้งหมด โดยในปี 2560 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่รถทั้ง 2 ฝ่าย ที่ประสบอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ดำเนินการไปแล้ว 40 ราย ในจำนวนนี้พบ 1 ใน 4 เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี
ผลการตรวจเตือนบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 9-12 เมษายน 2560 ตรวจเตือนทั้งหมด 927 แห่ง พบผู้ประกอบการทำผิด 308 แห่ง ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 80 ราย รองลงมาขายให้เด็กอายุต่ำอายุกว่า 20 ปี 67 ราย และการโฆษณาสื่อสารการตลาด 44 ราย โดยได้ตรวจเตือนทุกรายและส่งดำเนินคดี 7 ราย โดยโทษของการกระทำผิดมีดังนี้ 1.ขายโดยไม่มีใบอนุญาต ผิดตาม พ.ร.บ.สุรา ของกรมสรรพสามิต มีโทษปรับ 500-2,000 บาท 2.การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 4 เรื่องเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากจราจร ได้แก่ 1.เน้นการเฝ้าระวังและตรวจจับอย่างเข้มข้น ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม การขายให้กับเด็กอายุ ต่ำกว่า 20 ปี และในช่วงเวลาห้ามขาย 2.ให้มีการสอบสวนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสอบถามแหล่งจำหน่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลงพื้นที่ในการตรวจ/เตือน 3.ให้โรงพยาบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ ถ้าไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ และกรณีนั้นเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รับผิดชอบค่าตรวจในช่วง 7 วันอันตราย 4.ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตรวจและเตือนกลุ่มเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนและร่วมมือประชาคมตั้งด่านชุมชน และการนำเสนอข้อมูลผ่านศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด/อำเภอ
สำหรับการดำเนินการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”(Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ตั้งแต่วันที่ 1-12 เมษายน 2560 มีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเข้าระบบ 1,123 ราย เข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินสีแดง 458 ราย ในวันที่ 12 มีจำนวน 119 ราย เข้าเกณฑ์ 42 ราย หากประชาชนเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินสีแดง สามารถเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุที่ใกล้ที่สุดทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก หากประชาชนประสบเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลข 1669 และ สามารถสอบถามเรื่องสิทธิ UCEP ได้ที่หมายเลข 02 8721669 ตลอด 24 ชั่วโมง