สงครามซ้อนสงครามที่ซีเรีย...จับตา "ไอเอส" คืนชีพ
วิกฤตการณ์ล่าสุดในซีเรียที่ทำให้สองมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐกับรัสเซียเผชิญหน้ากัน กลายเป็นความวิตกว่าจะบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ จากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่ากระแสความวิตกกังวลถือว่ามีน้ำหนัก เพราะนับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐพุ่งเป้าโจมตีรัฐบาลซีเรียแบบตรงๆ แตกต่างจากที่ผ่านมาที่ใช้การโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ซึ่งช่วงหนึ่งเป็นความร่วมมือกับรัสเซียด้วยซ้ำ แต่การโจมตีล่าสุดของสหรัฐทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้รูปการณ์ยังไม่บานปลายหรือขยายวงมากขึ้น
"สาเหตุที่ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจยังไม่บานปลาย เพราะก่อนที่สหรัฐจะตัดสินใจโจมตีด้วยขีปนาวุธโทมาฮอว์ค ได้แจ้งกับรัสเซียก่อน และหลังจากนั้นยังได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งนี้จะดำเนินการเพียงครั้งเดียวเพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนของรัฐบาลซีเรีย ฉะนั้นฝ่ายรัสเซียไม่น่าจะตอบโต้สหรัฐรุนแรงนัก" เป็นมุมมองของ ดร.ศราวุฒิ
แต่ถึงกระนั้น นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา ประเมินว่า หากสหรัฐยังคงปฏิบัติการลักษณะเดียวกันอีกเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 ก็มีความเสี่ยงสูงที่รัสเซียจะตอบโต้ด้วยมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้นก็ต้องยอมรับว่าน่ากลัวแน่
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากลัวกว่าในความเห็นของ ดร.ศราวุฒิ ก็คือ สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ยืดเยื้อยาวนานจะทวีความรุนแรงหนักข้อขึ้น เพราะต้องเข้าใจว่าสงครามในซีเรีย จริงๆ แล้วเป็น "สงครามตัวแทน" หรือ proxy war ที่ต่อเนื่องมาจาก "อาหรับ สปริง" และมีหลายฝ่ายเข้าไปเกี่ยวข้อง ในระดับภูมิภาคก็คือการต่อสู้กันระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย และในระดับโลกก็คือ สหรัฐกับรัสเซีย ถือเป็น "สงครามซ้อนสงคราม" จึงมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่มหาอำนาจจะเผชิญหน้ากัน
"สงครามในซีเรีย คือจุดกำเนิดหนึ่งของไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) นับถึงปัจจุบันมีคนตายมากกว่า 3 แสนคน ผู้อพยพอีกนับล้าน ฉะนั้นถ้าสองมหาอำนาจขัดแย้งกันจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐในครั้งนี้ ก็มีโอกาสสูงที่สงครามตัวแทนในซีเรียจะเข้มข้นขึ้น คนจะตายเพิ่ม ผู้อพยพก็จะเพิ่ม และมีโอกาสที่ไอเอสจะฟื้นขึ้นมาอีก ถ้าเป็นแบบนั้นสงครามในซีเรียจะยืดเยื้อออกไปอีก และหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายซีเรียจะทำให้สถานการณ์ของโลกไม่มั่นคง" ดร.ศราวุฒิ ระบุ
กับท่าทีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา มองว่า ท่าทีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชัดเจน เพราะเดิมเคยแสดงความเห็นเอาไว้หลายครั้งว่าสหรัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิกฤติในซีเรีย และช่วงรณรงค์หาเสียงก็ประกาศนโยบายไม่ไปยุ่งกับเรื่องนอกบ้าน แต่เมื่อชนะเลือกตั้ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว กลับเป็นผู้สั่งให้โจมตีทางอากาศกับซีเรีย
"สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ไม่ว่าช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติของสหรัฐ เป็นไปได้ว่าเพราะงานด้านต่างประเทศและความมั่นคงถูกกำหนดโดยล็อบบี้ยิสต์ บริษัทค้าอาวุธ ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากต่อทิศทางทางการเมือง รวมถึงทหารใหญ่ๆ ในกองทัพ และหน่วยข่าวกรองของสหรัฐเอง ขณะที่ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ จึงต้องฟังคำสั่งของผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ ทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐกลับเข้าสู่แทรคเดิม เหมือนยุคประธานาธิบดีบุช คือมุ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองของชาติในตะวันออกกลาง" ดร.ศราวุฒิ ระบุทิ้งท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพโดย นลิน สิงหพุทธางกูร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26