เครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิทธิฯ กังวลปัญหา กสม.ไทย
ปัญหาภายในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ไทย ที่ปะทุออกมาให้สังคมได้รับรู้ผ่านการยื่นใบลาออกของ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย หนึ่งในกรรมการ กสม.นั้น ไม่ได้สร้างความวิตกเฉพาะในแวดวงสิทธิมนุษยชนบ้านเราเท่านั้น แต่องค์กรระหว่างประเทศก็ยังแสดงความกังวล
ล่าสุด เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หรือ ANNI ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (NHRCT)" เนื้อหาสรุปว่า ขอแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน กสม.ไทย เพราะสัญญาณของความขัดแย้งภายในองค์กร กสม.ปรากฎอย่างชัดเจนสืบเนื่องจากการยื่นหนังสือลาออกของ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย หนึ่งในกรรมการ กสม. ซึ่งอ้างเหตุผลเรื่องความไม่พอใจต่อการจัดการและระบบการทำงานภายใต้การบริหารงานของประธาน กสม. คือ นายวัส ติงสมิตร
ขณะที่ นายวัส เองก็ได้ออกคำแถลงต่อการลาออกของ นพ.สุรเชษฐ์ ว่าจะไม่มีการสรรหาบุคคลแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลงจนกว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ANNI ขอแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นการยืนยันอีกครั้งถึงกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งของ กสม.ไทยที่ยังมีมาตรฐานไม่ดีพอ และส่งผลเป็นการจำกัดประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานของ กสม. อันเป็นผลสืบเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนแต่งตั้งกรรมการใหม่
ANNI ได้เคยประเมินกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสม.ที่ยังขาดการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการคัดเลือกบุคคลจากคุณสมบัติ โดยกระบวนการสรรหาดังกล่าวย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อตัวกรรมการ กสม.เอง ซึ่งปรากฎเห็นได้ชัดจากกรณีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ กสม.ในปี 2558 นั้น มีผู้ได้รับเลือกคือ นางอังคณา นีละไพจิตร เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีความเชี่ยวชาญหรือเคยมีประสบการณ์ตรงต่อสายงานทางด้านสิทธิมนุษยชน
ANNI ขอเรียกร้องต่อประธาน กสม.ให้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ กสม.ในฐานะองค์กรซึ่งสมควรจะมีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยแทนที่จะให้ความสำคัญต่อเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยในการลงมติของคณะกรรมการฯ แต่นี่ถือเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่ประธาน กสม.จะต้องหยิบยกประเด็นเรื่องความหลากหลายภายในคณะกรรมการ กสม.ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นเรื่องที่เชื่อมโดยตรงไปถึงความจำเป็นที่องค์กรจะต้องมีความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ ความมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงประชาชน
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาอันวิกฤติของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ANNI ขอเรียกร้องต่อ กสม.ให้ยกระดับการทำงานในแง่ของความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพขององค์กร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ภายในองค์กรถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำให้โครงสร้างขององค์กรสอดคล้องกับหลักการปารีส ตามคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับการ (Paris Principles-compliant Commission)
ที่สำคัญ ประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กสม. ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ดีกว่าเดิมในเรื่องกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการ, การได้รับความคุ้มกันอย่างแท้จริงในการทำหน้าที่, ประสิทธิภาพในการรับมือประเด็นสิทธิมนุษยชนภายในเวลาที่เหมาะสม, ความเป็นอิสระและเป็นกลางขององค์กร ฯลฯ เหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการยกร่าง
-------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : อ่านแถลงการณ์ต้นฉบับได้ที่ ANNI – Thailand: Recent Developments Show the Urgent Need for Structural Changes of NHRCT