ระบบป้องกันอัคคีภัยโรงหนัง330แห่งมีปัญหา!สตง.จี้ผู้ว่าฯกทม.เคลียร์เอกชน
เผยผลสอบ สตง. พบระบบป้องกันอัคคีภัยโรงภาพยนตร์ในเขต กทม. 330 แห่ง ไม่เป็นไปตามที่กม.กำหนด ระบุชัด บานประตูเป็นวัสดุทำจากไม้ ป้ายบอกแนวทางเดิน -หนีไฟ มองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนการตรวจสอบสภาพอาคาร เจอปัญหาเช่นกัน เจ้าของเพิกเฉยไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพกว่า 2,561 แห่ง - คตง. ลงมติจี้ผู้ว่าฯกทม.ควบคุมเอกชนปฏิบัติตามแก้ไขปัญหาเคร่งครัด
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร โดยพบว่ามีปัญหาระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ตามที่ กทม. โดยกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงภาพยนตร์ในพื้นที่ กทม. จำนวน 330 โรง ในอาคาร 44 แห่ง ระหว่างวันที่ 2 - 17 ส.ค.2559 ปรากฎว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารโรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงอุปกรณ์ประกอบอาคาร อาทิ บานประตูโรงภาพยนต์เป็นวัสดุทำจากไม้ ป้ายบอกแนวทางเดิน ป้ายบอกทางหนีไฟ และป้ายห้ามสูบบุหรี่้ มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ หรือมีลักษณะของป้ายที่ไม่เหมือนกัน
เบื้องต้น กทม. ได้ทำหนังสือด่วนแจ้งไปยังเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนต์ทั้ง 330 โรง ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระยะเวลาแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันแจ้ง หรือประมาณ วันที่ 17 ก.ย.2559
แต่จากการติดตามพบว่า การดำเนินการแก้ไขของเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ณ วันที่ 12 ธ.ค.2559 พบว่า โรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ โดยโรงภาพยนตร์จำนวน 89 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.97 ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ได้ขอขยายเวลาแก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่โรงภาพยนตร์อีกจำนวน 241 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.03 ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ยังคงเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใด ๆ
นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบยังพบว่า มีอาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร จำนวน 3,372 แห่ง จากอาคารทั้งหมด 7,683 แห่ง โดยมีอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบจำนวน 2,765 แห่ง คิดเป็นจำนวนร้อยละ 82 ของอาคารที่เข้าข่าย ซึ่งสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งเตือนเจ้าของอาคารดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคารภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้หนังสือแจ้งเตือน
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลการดำเนินการของอาคารที่แจ้งเตือน พบว่า มีอาคารเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จำนวน 2,561 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90 .99 ของอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบและได้มีหนังสือแจ้งเตือน ซึ่งข้อมูลอาคารที่เพิกเฉยดังกล่าว ยังไม่รวมอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและไม่ยื่นรายงานตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555 - 2559 เนื่องจาก กทม. ยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลตามที่สตง.ตรวจสอบ
"ผลการตรวจสอบกรณีนี้ ได้มีการนำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณาแล้ว ซึ่ง คตง.มีความเห็นให้ส่งเรื่องถึงผู้ว่ากทม. เพื่อให้ควบคุมกำกับดูแลให้เจ้าของอาคาร โรงภาพยนต์ ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาเร่งแก้ไขปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป" แหล่งข่าวระบุ
(อ่านผลสอบสตง.ฉบับเต็มที่นี่)
หมายเหตุ : ภาพประกอบโรงภาพยนต์จาก Marketing Oops!