ชัด ๆ คำชี้แจง‘ยิ่งลักษณ์’ต่อศาล ปค. ก่อนถูกยกคำร้องไม่ทุเลายึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล.
“…หากมีการยึด และอายัดเงินฝากดังกล่าวจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายในการใช้ชีวิตประจำวัน และการยึดบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบันของผู้ฟ้องคดีจะทำให้ผู้ฟ้องคดีและครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย และหากต่อมาบ้านดังกล่าวได้มีการขายทอดตลาด และภายหลังศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาทจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่สามารถกลับคืนมาสู่ผู้ฟ้องคดีได้ อันถือว่าเป็นการยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ในภายหลัง…”
จากกรณีศาลปกครองกลางมีมติเสียงข้างมากยกคำร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุเลาการบังคับอายัดทรัพย์สินชั่วคราว ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ฟ้องคดี พิพาทกับนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับพวกรวม 4 ราย ขอให้เพิกถอนคำสั่งเรียกค่าเสียหายชดใช้โครงการรับจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ : ตามรอย‘ภูมิ-บุญทรง’!ศาลปค.ยกคำร้อง ‘ปู’ขอทุเลาอายัดทรัพย์คดีจำนำข้าว)
มาฟังคำชี้แจงแบบ ‘เต็ม ๆ’ ของ ‘ยิ่งลักษณ์’ กันบ้างว่า เพราะเหตุผลอะไร ทำไมศาลจึงยกคำร้อง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำชี้แจงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลปกครองกลาง มีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อศาลได้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาแล้ว การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้อาจจะใช้ระยะเวลานาน ซึ่งหากผู้ฟ้องคดี (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จะทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหายยิ่งกว่าปัจจุบัน ทั้งที่คำสั่งที่พิพาทมีความชอบด้วยกฎหมายหลายประการ และโดยที่การใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่า กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่การนำทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไปใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะ การให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาท จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะแต่อย่างใด
และในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีได้จงใจกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า โดยสถานะของผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ดี หรือในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็ดี ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีจงใจ หรือมีความประสงค์มุ่งหมายในการปฏิบัติหน้าที่ให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย เพราะเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่นำมาใช้ออกคำสั่งพิพาท เป็นแต่เพียงการนำพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ถูกกล่าวหาในลักษณะเหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยข้าราชการประจำหรือองค์กรอิสระมาใช้เป็นเหตุผลในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดเท่านั้น
ทั้งหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือทักท้วงของหน่วยงานตรวจสอบ ผู้ฟ้องคดีก็ได้รับฟังการแนะนำ หรือการตำหนิติติงการบริหารราชการแผ่นดิน และได้สั่งการให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติรับไปพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการที่จะสั่งยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ผู้ฟ้องคดีจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการปฏิบัติราชการดังกล่าวขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่การดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 นั้น การปฏิบัติราชการตามโครงการดังกล่าว ไม่ได้ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด
นอกจากนั้นหลังจากที่ได้มีการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินและมีหนังสือเตือนให้ชดใช้เงินแล้ว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กรมบังคับคดีจะดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อยึดทรัพย์สินของบุคคลที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยทันที หากศาลปกครองมีคำสั่งไม่ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่เกี่ยวกับการระบายข้าวโดยวิธีการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนำมาขายทอดตลาดเพื่อให้ได้เงินมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนครบถ้วน กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 (นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 ราย) ได้เริ่มที่จะดำเนินการใช้มาตรการทางปกครองแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนและเสียหายร้ายแรง
โดยเฉพาะหากมีการยึดทรัพย์สินที่เป็นบ้านพักอาศัย เลขที่ 38/9 ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ที่ผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างเพื่ออาศัยกับครอบครัว และนำมาขายทอดตลาด จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ฟ้องคดีและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ฟ้องคดีขอรับรองต่อศาลว่า จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวตามปกติ โดยจะไม่กระทำการใด ๆ นอกเหนือจากที่มีอยู่เดิม และจะไม่ทำการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล เพราะหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีคำสั่งที่พิพาท ผู้ฟ้องคดีก็ได้รับความเสียหายอย่างมากแล้ว
ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักสัดส่วน หากศาลมิได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมมีมากหรือสูงกว่าประโยชน์ของรัฐที่ได้รับจากการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทตามคำขอดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้ถ้อยคำประกอบคำชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 (เกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท) ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่สามารถที่จะชดใช้ และมีการกำหนดความรับผิดที่ไม่มีความชัดเจน หากมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้วขายทอดตลาดเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะทำให้ผู้ฟ้องคดีตกเป็นบุคคลล้มละลาย โดยไม่จำต้องมีคำพิพากษาของศาล เพราะจะไม่มีทรัพย์สินใดเหลืออยู่เลย ทั้งที่ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีได้มาก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้มาโดยสุจริต
หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นแต่อย่างใด ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีมีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินฝากในบัญชีธนาคารเท่านั้น ดังนั้นหากมีการยึด และอายัดเงินฝากดังกล่าวจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายในการใช้ชีวิตประจำวัน และการยึดบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบันของผู้ฟ้องคดีจะทำให้ผู้ฟ้องคดีและครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย และหากต่อมาบ้านดังกล่าวได้มีการขายทอดตลาด และภายหลังศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาทจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่สามารถกลับคืนมาสู่ผู้ฟ้องคดีได้ อันถือว่าเป็นการยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ในภายหลัง
และขณะนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0206/44 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน หากผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการดังกล่าว กระทรวงการคลังจะดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนต่อไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจงอีกว่า หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ หรือค่าตอบแทนใด ๆ จากการที่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าว ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพตามสถานะทางสังคม และฐานานุรูปที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชนหลายแห่ง โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2,650,000 บาท ประกอบด้วยรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นเงินจำนวน 1 ล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา กิจกรรมทางการศึกษา ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของบุตร เป็นเงินจำนวน 2 แสนบาท 3.ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เป็นเงินจำนวน 2 แสนบาท 4.ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นเงินจำนวน 8 แสนบาท 5.ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือ และเยี่ยมเยือนประชาชน เป็นเงินจำนวน 4.5 แสนบาท
และผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16505 และเลขที่ 70389 ที่ใช้ปลูกบ้านพักอาศัยเลขที่ 38/9 ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. และที่ดินโฉนดเลขที่ 25401 ที่ใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยของคนงาน ลูกจ้าง บริวาร และเป็นที่สำหรับจอดรถ โดยผู้ฟ้องคดีได้ส่งสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าว พร้อมกับสำเนาบัญชีเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ รวม 4 แห่ง และบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสำเนาการซื้อกองทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อศาลด้วย
ทั้งหมดคือคำชี้แจงแบบครบชุดของ ‘นารีขี่ม้าขาว’ ต่อศาลปกครอง ก่อนที่องค์คณะจะมีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้อง มีเพียงตุลาการเสียงข้างน้อยแค่ 2 ราย เท่านั้น ที่เห็นสมควรทุเลาบังคับการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว
อ่านประกอบ :
ล้วงเหตุผล ตลก.ศาลปค.2เสียงข้างน้อย ทำไมควรทุเลาอายัดทรัพย์สิน ‘ยิ่งลักษณ์’?
ค่าเยี่ยม ปชช.เดือนละ 4.5 แสน! เปิดคำชี้แจง‘ปู’หลังศาลยกคำร้องขอทุเลายึดทรัพย์คดีข้าว
ชั่วชีวิตใช้ไม่หมด! ‘ปู’ขอศาลคุ้มครองชั่วคราวปมอายัดทรัพย์คดีข้าว 3.5 หมื่นล.
โชว์ชัดค่าเสียหายจำนำข้าว 1.7 แสนล. 'ปู'จ่ายแค่ 20%-วิจารณ์ขรมคำนวณผิด?
ชาติเสียหาย5แสนล.! สตง.ชง บิ๊กตู่ ค้าน คลัง คิดค่าเสียหายจำนำข้าว 'ปู' แค่ 20 %
โชว์หนังสือ'ปู'ยื่นโนติสปลัดคลัง ถอนคำสั่งชดใช้คดีข้าว3.5หมื่นล.ภายใน7วัน
‘ปู’ร้องปลัดคลังเพิกถอนค่าเสียหายจำนำข้าว อ้าง‘บิ๊กตู่’สั่งสอบไม่สนความยุติธรรม
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก ผู้จัดการออนไลน์