ทันตแพทยสภา ค้านกม.พลังงานนิวเคลียร์ ให้จนท.ทางรังสี ขอใบอนุญาต จาก ปส.
นายกทันตแพทยสภา ชี้พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 ส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์ทั่วประเทศ ยันเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพ ห่วงการกำหนดให้ขึ้นทะเบียน ครอบครอง ขอใบอนุญาต ฝ่าฝืนโทษรุนแรง กรณีไม่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี หรือใครที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วมาใช้เครื่องเอกซเรย์ จะถูกจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 60 ว่า พ.ร.บ.นี้ มีการรวมเครื่องกำเนิดรังสี กัมมันตรังสี วัตถุนิวเคลียร์ เข้าด้วยกัน และมีวิธีการกำกับดูแลเหมือนกัน และก็ใช้โทษที่ค่อนข้างจะรุนแรง
“เนื่องจาก พ.ร.บ.นี้ มี 2 เรื่องด้วยกันคือ การขึ้นทะเบียนหรือการครอบครอง จะต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาต (License) จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ที่มีอายุ 5 ปี และในการครอบครองนั้น ไม่ได้แบ่งระดับของเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งตามมาตรฐานสากลแล้วการควบคุมเครื่องกำเนิดรังสีก็จะแบ่งระดับ โดยเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมอยู่ในระดับต่ำสุด เมื่อเทียบกับเครื่องกำเนิดรังสีอื่นๆ ดังนั้นการควบคุมที่ใช้ พ.ร.บ.นี้ จึงค่อนข้างจะเข้มงวดและไม่ได้แบ่งระดับทำให้เกิดปัญหา”
นายกทันตแพทยสภา กล่าว อีกว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นผลกระทบต่อวงการแพทย์ทั่วประเทศ เพราะเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมเป็นสิ่งที่ใช้มานาน และเป็นการใช้ที่ค่อนข้างจะอิสระ โดยในทางทันตกรรมแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เมื่อมีการขึ้นทะเบียนเครื่องกำเนิดรังสี กฎหมายนี้กำหนดว่าจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีด้วย
“สำหรับคนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีได้นั้น จะต้องขอ License จาก ปส. เช่นเดียวกัน และจะมีโทษหากใครไม่มาขึ้นทะเบียน ซึ่งคนที่ปะกอบวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ รังสีเทคนิค ที่ผ่านการเรียนและใช้เครื่องได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาขึ้นทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีอีก เพราะจะเป็นการนำ license มาซ้อน license ในเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้มี license จากสภาวิชาชีพอยู่แล้ว”
ทพ.ไพศาล กล่าวถึงการประชุมร่วมเพื่อหาทางออกเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ในส่วนประเด็นที่มีความเห็นตรงกัน คือ 1.เครื่องเอกซเรย์ควรจะต้องมีการควบคุม 2.กฎหมายนี้ไม่ค่อยเหมาะสมที่มาควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม 3. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งควรจะได้รับการยกเว้น และ 4. สภาวิชาชีพควรจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ดูแล เรื่องมาตรฐานการให้บริการในด้านของความปลอดภัย
“ทันตแพทยสภา เครือข่ายองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์ได้เสนอ ขอ ให้เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมไม่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และให้เครื่องกำเนิดรังสีนี้ไปอยู่ภายใต้การดูแลความปลอดภัย ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งปัจจุบันก็ทำอยู่แล้ว และที่เป็นข้อกังวลมากที่สุด คือ เรื่องโทษที่มีรุนแรงมาก ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ใครที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วมาใช้เครื่องเอกซเรย์ ก็จะถูกจำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท ถือว่าเป็นโทษที่รุนแรงและเป็นโทษที่ไปรวมกับพลังงานนิวเคลียร์”
ทพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า เครื่องเอกซเรย์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในทางทันตแพทย์ ถ้ามีภาระเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในระบบอาจจะเพิ่มด้วยเช่นกัน ทางด้านทันตแพทย์บางคนก็เห็นว่ารุนแรง และอาจจะไม่ใช้เครื่องเอกซเรย์ ทำให้การปฏิบัติงานไม่คล่องตัว และเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงผลกระทบต่อการมาตรฐานวิชาชีพด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปส. ชี้แจงเหตุต้องกำกับดูแล X-ray ทันตกรรม
ทันตแพทย์ 15 องค์กร จี้ รมว.วท.เร่งออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์จาก กม.พลังงานนิวเคลียร์
นายกทันตแพทยสภาหวั่นคลินิกทำฟันกว่า 6 พันแห่ง กระทบจากกม.พลังงานนิวเคลียร์ใหม่