ความหมาย “ครอบครัวไทย” ในยุค 4.0
ในอนาคตครอบครัวอาจจะเป็นครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย เช่นครอบครัวชายแต่งกับชาย ครอบครัวหญิงแต่งกับหญิง ครอบครัวชายหญิง ที่แต่งงานการหย่าร้างเป็นลักษณะของที่เรียกว่า ครอบครัวของสามีหรือภรรยาใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นภาพของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป
วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.จุฬาภรณ์ มองครอบครัวไทยในยุค 4.0 คือ การอยู่ร่วมกันของคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น คนสองคนนี้อาจจะไม่ใช่พ่อแม่และลูก แต่คน 2 คนนี้อาจจะเป็นครอบครัว อาจเป็นตาและยาย ที่อยู่กับหลานก็ได้ ครอบครัว คือการอยู่ร่วมกันของคน การอยู่ร่วมกันของคนจะตามไปด้วยคำว่า สัมพันธภาพในครอบครัว
“อดีตเราจะมีอุดมคติคำว่า ครอบครัว มีพ่อ แม่ และลูก ในความหมายของการเลี้ยงดูของลูกคือ รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี และในรูปแบบต่างๆ ก็จะมีในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนยุค 4.0 มีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม คนที่อยู่ในระบบของการศึกษาที่เคยมีการศึกษาในสายอาชีวะต่างๆ เข้าสู่หน่วยงานหรือว่า แรงงานอุตสาหกรรมการอพยพแรงงานการละทิ้งถิ่นฐานเกิดขึ้น ก็เป็นภาพที่ชินตาของสังคมไทย”
วันนี้ ครอบครัวที่ถูกทิ้งร้างอยู่ตามชนบท มีปู่ย่าตายาย ดูแลลูกหลาน พบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีเรื่องของสัมพันธภาพของผู้สูงอายุและเด็กที่ไม่สามารถดูแลกันได้ ดร.จุฬาภรณ์ เห็นว่า ฉะนั้นคนในสังคมต้องหันกลับมามองครอบครัว โดยให้ความสำคัญของคนที่อยู่ร่วมกันมากกว่าความสัมพันธ์เชิงสายเลือด
“สมัยก่อนครอบครัวในอุดมคติควรจะต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูก แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ของครอบครัวไทยและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของการอพยพแรงงาน การเปลี่ยนแปลงจากสัมพันธ์ภาพของคนในครัวเรือน เช่น การหย่าร้างกัน มีเรื่องของคนครองโสดเยอะ ฉะนั้น ความหมายของคำว่าครอบครัวไทย ในยุค 4.0 คือ การให้ความสำคัญกับคนหรือสมาชิกในครอบครัว เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพและความชัดเจนของบริบทของครอบครัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อ แม่ อพยพไปเป็นแรงงานในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกว่า 40% ของสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับคนที่ถูกทิ้งร้างไว้ที่บ้านเรือน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ต้องดูแลลูกหลานด้วย”
ดร.จุฬาภรณ์ มองว่า แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบาย เทคโนโลยีมีราคาถูกลง สมัยก่อนเวลาที่จะติดต่อกับครอบครับ หรือจะโทรศัพท์ทีก่อนในช่วงเทศกาลหรือกลับบ้าน ต้องมีการแลกเหรียญไว้เป็นหลายร้อยบาทในกำมือ เข้าคิวโทรศัพท์ในตู้สาธารณะ ปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ไช่แค่ได้ยินเสียง แต่สามารถเห็นภาพประกอบหรือที่เรียกว่า วีดีโอคอลได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เข้าถึงความรักความอบอุ่นในครอบครัว แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการจะเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัว การให้เวลากับสมาชิกในครอบครัวตามสมควร เช่น ในวัยแรงงานที่ต้องทำงาน ในต่างจังหวัด อาจจะต้องกลับบ้าน ตามที่เราเห็นในสถานะภาพของสังคมไทย ช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ จะพบได้ว่า คนแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ก็เดินทางกลับบ้าน ตรงนี้ คือ ช่วงเวลาแห่งคุณภาพที่ทุกคนจะกลับไปดูแลครอบครัว
ช่วงเวลาแห่งคุณภาพ ดร.จุฬาภรณ์ มองว่า แทนที่เราจะกลับไปแล้วสังสรรค์ดื่มเหล้าเมา เราจำเป็นต้องถามตัวเองว่า ช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด จากการที่ทำงานหนักมาทั้งปี เราจะกลับบ้านไปเพื่อใช้ชีวิตให้คุ้มค่า โดยการที่ไปเสียเวลากับการดื่มสุรา หรือการที่ไปให้เวลากับสมาชิกในครอบครัว ลูกหลาน ผู้สูงอายุ
สำหรับจุดท้าทายของสังคมไทย ที่สถานภาพครอบครัวเด็กและผู้สูงอายุต้องอยู่ร่วมกันนั้น ดร.จุฬาภรณ์ บอกว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะสร้างเด็กที่มีคุณภาพ พร้อมกับดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพไปด้วยกัน ด้านของภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาในรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การส่งเสริมพื้นที่ในการดูแลเด็กร่วมกันกับครอบครับ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กปฐมวัย แต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเหล่านี้นั้นไม่ไช่ทางออกที่จะเอาเด็กไปฝากไว้ ศูนย์เหล่านี้ต้องมีกลไก มีหน้าที่ ในการพัฒนาเด็กเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม
ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่เริ่มมีความเสื่อมทางด้านร่างกาย การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพารายได้จากสมาชิกในครอบครัว ลูกหลาน หรือเป็นผู้สูงอายุที่ต้องทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุกับเด็กอยู่ร่วมกัน ดร.จุฬาภรณ์ เห็นว่า เป็นคำถามที่ท้าทายที่สมาชิกในครอบครัวควรจะต้องกันหลังกลับไปให้การดูแลครอบครัวเหล่านี้
“ครอบครัวไทยอีกกลุ่ม ที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน ซึ่งมีอัตราสูงสุด 30 % จากสถิติของรายงานจากปี 2559 ในครอบครัวที่หย่าร้างกัน ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราจะทำอย่างไรให้ครอบครัวคนไทยในยุค 4.0 นี้มีความรักความอบอุ่นแม้จะหย่าร้างกัน อาจจะเป็นการเดินร่วมทางกันไม่ได้ของพ่อและแม่ แต่ลูกที่เป็นโซ่ทองคล้องใจ ในวันหนึ่งที่สถานภาพของการเป็นพ่อและแม่ ที่ยังคงอยู่ ถึงแม้สถานภาพของความเป็นสามี ภรรยาจะจบลง แต่ทำอย่างไรเราถึงจะผ่านการจงเกลียดจงชังกัน ภายหลังจากการที่หย่าร้างและมีการตัดสินใจที่จะยุติความสัมพันธ์ในด้านครอบครัว และทำให้รู้สึกว่า หน้าที่ของความเป็นพ่อหน้าที่ของความเป็นแม่ทุกเรื่องสำคัญทั้งชายและหญิงที่ได้ตัดสินใจมีลูกร่วมกัน จะต้องหันกลับมาดูแลลูกหลานร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือมีความผิดในสังคม”
ฉะนั้น คำว่าครอบครัว ก็คือความหมายของคำว่า การอยู่ร่วมกันของคนสองคนขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดความอบอุ่นความเข้าใจความทันสมัยของสังคมไทยจะทำให้ครอบครัวไทยในยุค 4.0 คือเป็นครอบครัวคุณภาพ ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ครอบครัวชายแต่งกับชาย หญิงแต่งกับหญิง ชายหญิงที่แต่งงาน การหย่าร้างเป็นลักษณะที่เรียกว่า ครอบครัวของสามีหรือภรรยาใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นภาพของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป