2 ปี ข้อตกลงคุณธรรม
ข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมาตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 มีโครงการจัดซื้อที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 44 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 222,762.90 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 23 โครงการ รวมมูลค่า 32,201.43 ล้านบาท เกิดการประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินไปได้ 6,162 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 20 โดยเฉลี่ย
แต่มีข้อสังเกตว่า โครงการจัดซื้อฯ ปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม คือ การจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 250 ซีซี. จำนวน 15,015 คัน วงเงินงบประมาณ 2,230 ล้านบาท แต่หน่วยงานได้ลงนามสั่งซื้อไปแล้วเมื่อ 14/12/59 ก่อนมีการใช้ข้อตกลงคุณธรรม โดยจัดซื้อในวงเงิน 2,229.97 หรือต่ำกว่าราคากลาง 3 หมื่นบาท (ข้อมูลกรมบัญชีกลาง)
จากการทำงานและการเรียนรู้ทำให้ประเมินได้ว่า การใช้ข้อตกลงคุณธรรมนอกจากจะไม่เป็นอุปสรรค ไม่ทำให้เสียเวลาหรือเพิ่มต้นทุนในการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ยังช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างดีขึ้น กล่าวคือ
1. ทำให้ประหยัดเงินงบประมาณหรือเงินภาษีของประชาชนจำนวนมาก ดังกล่าวข้างต้น
2. พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
2.1 สร้างวัฒนธรรมการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชน
2.2 สร้างประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การปรับปรุงการเขียน ทีโออาร์ การกำหนดเงื่อนไขให้มีการแข่งขันมากขึ้น กำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อที่เป็นประโยชน์กับรัฐและการกำหนดราคากลางที่เป็นธรรม เป็นต้น
2.3 ข้าราชการที่ดีทำงานง่ายขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แต่ละโครงการประสบความสำเร็จ คงมิใช่แค่การมีผู้สังเกตการณ์ที่ดีและได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับนโยบายและความเอาจริงเอาจังของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สคร. รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อฯ
ที่ผ่านมาโครงการข้อตกลงคุณธรรมยังได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากสถาบัน IOD ธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) สมาคมการค้าและอีกหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะบรรดาอาสาสมัครและสมาคมวิชาชีพที่คัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ (Independence Observers = IO) ในโครงการ