ความถูกต้องและความเป็นธรรม
มาวันนี้ รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์แล้วรวมเอาเอกซเรย์ทันตกรรมเข้าไปด้วย และจะเอากฎหมายนี้มาบังคับใช้กับเรา บอกเราว่าต่อจากนี้ไปจะใช้เครื่องเอกซเรย์ของเราอย่างที่เคยใช้ไม่ได้
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุคทันตแพทยสภา ดังนี้
"หลายเดือนมานี้ตั้งแต่มีปัญหาเรื่อง เอกซเรย์ผมรู้สึกไม่สบายใจมาโดยตลอด พยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องนี้ได้ข้อยุติโดยเร็วตามที่ควรจะเป็น แต่ยิ่งนานไปยิ่งไม่แน่ใจ ว่าเรื่องจะยุติได้อย่างที่ต้องการเพราะ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กฎหมายนี้กับพวกเราดูจะไม่ฟังเหตุผล และเรื่องราวอาจจะลุกลามบานปลายจนอาจต้องทะเลาะต่อสู้กันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ ผมไม่ต้องการ วันนี้จึงขอระบายความในใจ ให้ได้รับทราบกัน
เครื่องเอกซเรย์ฟัน เป็นเครื่องมือที่อยู่คู่กับวิชาชีพของเรามาช้านานในพิพิธภัณฑ์หลวงวาจฯ ที่จุฬา ถ้าใครไปดู จะเห็นเครื่องเอกซเรย์โบราณเครื่องเล็ก ๆ ตั้งอยู่ใกล้กับเก้าอี้ทำฟันในประวัติศาสตร์ ของวิชาชีพทั้งในอเมริกาและยุโรปก็เป็นเช่นกัน
ทันตแพทย์คุ้นเคยและใช้เครื่องเอกซเรย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ผมจำได้ว่าตอนเป็นนักเรียนต้องเรียนเรื่องเอกซเรย์ละเอียดมาก ตอนขึ้นคลินิกก็ถูกเคี่ยวเข็ญให้ถ่ายเอกซเรย์ในท่าต่าง ๆ รู้จักใช้วิธีป้องกันรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งกับคนไข้และตัวเอง ทำกันจนชำนาญ เมื่อออกไปทำงานจึงใช้เครื่องเอกซเรย์ได้เป็นอย่างดีจนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน
มาวันนี้ รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์แล้วรวมเอาเอกซเรย์เข้าไปด้วย และจะเอากฎหมายนี้มาบังคับใช้กับเรา บอกเราว่าต่อจากนี้ไปจะใช้เครื่องเอกซเรย์ของเราอย่างที่เคยใช้ไม่ได้ ต้องขออนุญาตและสอบความรู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องการใช้เอกซเรย์ฟันก่อน โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย. ถ้าใครใช้เครื่องโดยไม่ไปขออนุญาตใช้เครื่องก่อนจะถูกจับจำคุกหรือถูกปรับโทษสูงสุดคือจำคุกห้าปีปรับ 500,000 บาท
ดูแล้วเป็นเรื่องตลกที่ไม่มีเหตุผล เหมือนนิยายน้ำเน่าน่าเศร้ามาก แต่กำลังจะไปเรื่องจริง
พอเราส่งเสียงไปว่า ท่านกำลังใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมไม่ถูกต้อง ท่านก็บอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เห็นว่า เรียนมามากไม่ต้องสอบก็ได้แต่ยังต้องขึ้นทะเบียนเพื่อใช้เครื่องเอกซเรย์และจ่ายค่าขึ้นทะเบียนทุก 3 ปีขอเก็บ 500 บาท ถ้าใครไม่จ่ายไม่ขึ้นทะเบียน ก็ใช้เครื่องไม่ได้ 500 บาท เป็นค่าธรรมเนียมในสมัยก่อนเรียกว่าส่วย
สรุปรวมความว่าทุก 3 ปีเราส่งส่วยให้ 500 บาทแล้วประชาชนจะได้รับความปลอดภัย
ผมจึงรู้สึกว่านี่คือความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม
จะให้เราขึ้นทะเบียนเครื่องเอกซเรย์ เราไม่ปฏิเสธและยินดีเพราะรู้ว่า เครื่องเอกซเรย์ ควรมีการควบคุมและจัดการ ที่ถูกต้อง โดยเราขอไปขึ้นทะเบียนกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งดูแลเรื่องเครื่องมือแพทย์และดูแลเรื่องนี้มาโดยตลอดท่านก็ไม่ยอมบอกว่ากฎหมาย ให้ขึ้นทะเบียนกับท่าน ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนจะถูกลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท พอเราไม่ยอมท่านก็บอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกันให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ เครื่องตรวจสถานที่ แล้วขึ้นทะเบียนกับท่านที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เลยไม่ต้องไปหาท่านก็ได้ ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้ก็แล้วกัน. ค่าขึ้นทะเบียนทุก 5 ปี เสีย 1,000 บาท ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าท่านต้องการส่วย เพิ่มอีก รวมความแล้วค่าเครื่องก็เก็บ เวลาจะใช้เครื่อง ก็ต้องเสีย
แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ได้ความปลอดภัยตามที่ท่านอ้างในกฎหมาย
มันถูกต้องและเป็นธรรมหรือ??
และนี่คือเหตุผลที่ผมจะต่อสู้และจะต่อสู้จนถึงที่สุด"