ถอดรหัสบีอาร์เอ็น ล้มวงพูดคุยมาราฯ รอเจรจาหลังสิ้นยุครัฐบาลทหาร
ต้องถือว่าไม่ได้สื่อสารกับสังคมมานานสำหรับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา
ช่วงที่มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะทำงานของรัฐบาลไทยในยุค นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 กับคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น ช่วงนั้นมีการออกแถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง YouTube หลายครั้ง รวมถึงเอกสารการยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ฝ่ายไทยรับยาก เมื่อผนวกกับความวุ่นวายทางการเมืองในเวลาต่อมา ทำให้โต๊ะพูดคุยต้องเลิกไปโดยปริยาย และหลังจากนั้นบีอารเอ็นก็เก็บตัวเงียบเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนถูกดึงเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย
ล่าสุด 10 เม.ย.60 มีแถลงการณ์ที่ระบุว่าเผยแพร่โดยฝ่ายสารสนเทศของบีอาร์เอ็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคง บอกว่า เมื่อดูจากรูปแบบเอกสารและภาษาที่ใช้แล้ว...น่าจะเป็นของจริง
แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น กล่าวอย่างสรุปก็คือ ไม่ปฏิเสธการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งและการประหัตประหารในปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่การเจรจาต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไข 3 ข้อ คือ
1.ทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีความจริงใจ และมีส่วนร่วมของภาคีฝ่ายที่สาม ซึ่งหมายถึงองค์กรหรือชุมชนระหว่างประเทศ ในฐานะพยานและผู้สังเกตุการณ์
2.คนกลางในการเจรจาควรมีความน่าเชื่อถือ และต้องมีหลักปฏิบัติตรงตามมาตรฐานสากล เช่น มีความเป็นธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
3.กระบวนการเจรจา ควรถูกออกแบบให้มีความชัดเจนจากคู่เจรจา และทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องร่วมกัน ก่อนเริ่มต้นการเจรจา
แถลงการณ์บีอาร์เอ็นยังทิ้งท้ายว่า การเจรจาใดๆ ก็ตาม ผู้เจรจาต้องได้รับมอบอำนาจจากการเลือกตั้งและจากประชาชน!
ผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคง มองว่า เงื่อนไข 3 ข้อของบีอาร์เอ็นเป็นเงื่อนไขใหม่ เนื้อหารวมๆ ไม่ได้ให้ร้ายรัฐบาลไทยในฐานะคู่ขัดแย้ง แต่เหมือน "แขวะ" มาเลเซียมากกว่า โดยเฉพาะข้อ 3 ที่บอกว่ากระบวนการเจรจาควรถูกออกแบบจากคู่เจรจา คล้ายบอกเป็นนัยว่ากระบวนการพูดคุยที่ทำกันอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับ "มารา ปาตานี" ไม่ได้ถูกออกแบบจากคู่ขัดแย้งโดยตรง
แน่นอนว่าคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลไทยต้องมีส่วนในการออกแบบเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของรัฐอยู่แล้ว ฉะนั้นการเขียนแบบนี้ย่อมหมายถึงมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกที่มีข่าวมาตลอดว่าเป็นผู้กำหนดรูปแบบ และอาจจะแทรกแซงในหลายๆ เรื่อง เนื่องจากกลุ่มขบวนการที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย ล้วนอยู่ในความควบคุมของสันติบาลมาเลย์
ย้อนกลับไปอ่านข้อ 2 ยิ่งชัด ที่ว่า "คนกลาง" ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเสียเอง หรือต้องไม่มีความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ ขณะที่มาเลเซียได้ประโยชน์เต็มๆ ไม่ว่าผลการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างจากรัฐจะออกในรูปไหนก็ตาม (ที่ผ่านมาหลายฝ่าย รวมถึงผู้ที่ร่วมในกระบวนการพูดคุยที่จัดโดยรัฐบาลในอดีต เช่น รัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็เสนอให้ใช้อินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกแทนมาเลเซีย เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้มีพรมแดนติดกัน)
ส่วนข้อ 1 เป็นเรื่องของการยกระดับการพูดคุย และสถานะของบีอาร์เอ็นหากตัดสินใจร่วมโต๊ะพูดคุย ว่าปัญหานี้ต้องเป็นประเด็นระดับนานาชาติ หรืออย่างน้อยก็ระดับภูมิภาค
เนื้อหาของเงื่อนไขที่ตีความได้แบบนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคงฟันธงว่า บีอาร์เอ็นต้องการล้มโต๊ะพูดคุยที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่กับ "มารา ปาตานี" โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพราะต้องไม่ลืมว่าใน "มารา ปาตานี" มีสมาชิกบีอาร์เอ็นบางปีก บางระดับร่วมอยู่ด้วย โดยเฉพาะคนที่เคยร่วมวงพูดคุยในคณะของนายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อปี 2556 ฉะนั้นเงื่่อนไขและข้อตกลงต่างๆ ระหว่างคณะพูดคุยตุัวแทนรัฐบาลไทยกับ "มารา ปาตานี" ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นย่อมรับรู้ รับทราบอยู่แล้ว การสร้างเงื่อนไขใหม่ และเขียนอ้อมๆ แบบ "ติเรือทั้งโกลน" ย่อมถอดรหัสได้ว่า บีอาร์เอ็นใหญ่ไม่ยอมรับการพูดคุยที่ดำเนินการอยู่นี้ และหากจะให้บีอาร์เอ็นเข้าร่วม ต้องเริ่มใหม่ในเงื่อนไขที่บีอาร์เอ็นเสนอ
"ท่าทีแบบนี้เหมือนกับฉีกหน้ามาเลเซีย ทั้งๆ ที่ต้องไม่ลืมว่าแกนนำบีอาร์เอ็นจำนวนมากก็พำนักอยู่ในมาเลย์ ฉะนั้นในอีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าหากทางการมาเลย์รับรู้ความเคลื่อนไหวนี้ ก็อาจต้องการล้มโต๊ะพูดคุยด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นที่แน่ชัดว่ามารา ปาตานี ไม่สามารถคุมกองกำลังในพื้นที่้ชายแดนใต้ได้จริง จากเหตุการณ์ระเบิดเสาไฟฟ้ากว่า 50 จุดใน 19 อำเภอเมื่อคืนวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ฉะนั้นถ้ายังฝืนเดินหน้าต่อไปถึงขั้นทั้งสองฝ่ายส่งชุดประเมินพื้นที่เข้าไปสำรวจอำเภอนำร่องที่จะประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย แล้วชุดประเมินถูกลอบโจมตี มารา ปาตานี จะไม่เหลือเครดิตอะไรเลย" ผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคง ระบุ
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตเสริมว่า ในแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น เน้นย้ำหลายครั้งเรื่อง "ความจริงใจ" เหมือนจะต้องการส่งสัญญาณว่ากระบวนการพูดคุยระหว่างคณะทำงานของรัฐบาลไทยกับ "มารา ปาตานี" ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่มีฝ่ายไหนจริงใจเลย ต่างฝ่ายต่างทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง "มารา ปาตานี" ก็ต้องการ "ตัวตน" และ "อำนาจต่อรอง" ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง ส่วนรัฐบาลไทยก็ไม่เชื่อว่า "มารา ปาตานี" เป็นตัวจริง จึงต้องการใช้ "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นตัวพิสูจน์ ขณะที่มาเลเซียก็มีผลประโยชน์ทางการเมืองและภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง
อย่างไรก็ดี ท่าทีการไม่ปฏิเสธกระบวนการเจรจาสันติภาพ ถูกมองในแง่ดีจากผู้สังเกตกาณณ์หลายฝ่ายว่าเป็นการส่งสัญญาณบวกจากบีอาร์เอ็น ทว่าหากพิจารณาอย่างละเอียดจากยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น ตามที่ศูนย์ข่าวอิศราเคยนำเสนอไปไม่นานนี้ (อ่านประกอบ...ยุทธศาสตร์ (ใหม่) BRN แสวงประโยชน์พูดคุย ปลดปล่อยปาตานีปี 2575) ก็จะพบร่องรอยความพยายามแสวงประโยชน์จากกระบวนการพูดคุยให้มากที่สุด
กล่าวคือ ใต้ร่ม "มารา ปาตานี" แม้จะไม่เชื่อน้ำยาว่าจะต่อรองกับรัฐบาลไทยได้สำเร็จ แต่ก็ส่งคนเข้ามาร่วมเกาะเกี่ยวเอาไว้ เผื่อวันหน้าจะเวิร์คขึ้นมา (เลือกคนที่ "เสียลับ" ไปแล้วจากการพูดคุยเมื่อปี 2556 เช่น นายอาวัง ยาบะ, นายมะสุกรี ฮารี เข้าร่วมกับมารา ปาตานี) แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของกลุ่มตนกลุ่มเดียว (เพราะรู้ดีว่ากลุ่มอื่นใน มารา ปาตานี ไม่มีกองกำลัง) ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวขยายเครือข่ายในต่างประเทศ เพื่อสร้างความพร้อมสำหรับโต๊ะเจรจาสันติภาพที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่าอนาคตอันใกล้ของบีอาร์เอ็น ไม่ได้หมายความถึงรัฐบาลไทยชุดนี้ เพราะเป็นรัฐบาลทหารที่ต่อรองยากในเรื่องความมั่นคง เหตุนี้เองแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นจึงตอกย้ำในตอนท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการเจรจาก็คือ ต้องได้รับ mandate หรือ "อาณัติ" จากประชาชนผ่านการเลือกตั้งด้วย
นี่คือสัญญาณจากบีอาร์เอ็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ในเรื่องการเจรจา ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายของพวกเขา นั่นก็คืออำนาจการปกครอง!
-----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ตั้ง 3 เงื่อนไขเจรจาสันติภาพ
ยุทธศาสตร์ (ใหม่) BRN แสวงประโยชน์ "พูดคุย" ปลดปล่อยปาตานีปี 2575