เรื่องงงๆ ของ "พูดคุยดับไฟใต้"
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดคำถามถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ว่าควรเดินหน้าต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการ "กำหนดพื้นที่ปลอดภัย" จะทำได้จริงๆ หรือ
ฝ่ายที่สนับสนุนให้การพูดคุยฯเดินหน้าต่อไป ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ระหว่างกระบวนการ"พูดคุยหรือเจรจาจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น หรือหนักหน่วงขึ้นจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย ฉะนั้นจึงควรเดินหน้าต่อไปเพื่อโดดเดี่ยวกลุ่มใช้ความรุนแรงให้ "หัวเดียวกระเทียมลีบ"
ส่วนฝ่ายที่คัดค้านการพูดคุยฯ ให้เหตุผลว่ากำลังคุยอยู่กับ "ตัวปลอม" ที่ไม่สามารถสั่งการหรือควบคุมกองกำลังได้จริง แล้วจะคุยทำไม (ต้องเข้าใจว่ากลุ่มนี้ไม่ได้คัดค้านกระบวนการสันติวิธีเพื่อสันติภาพ แต่ต้องการให้คุยถูกกลุ่ม ถูกตัว)
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเสียงท้วงติงจาก พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งคร่ำหวอดกับปัญหาชายแดนใต้ บอกว่าตลอด 13 ปีที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นก็ต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างชัดเจนกลุ่มเดียวอยู่แล้ว ฉะนั้นแนวคิดการ "โดดเดี่ยวบีอาร์เอ็น" ให้หัวเดียวกระเทียมลีบ จึงไม่น่าจะกดดันอะไรบีอาร์เอ็นได้
จริงๆ แล้วกระบวนการพูดคุยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่ม "มารา ปาตานี" มีความย้อนแย้งมึนงงในตัวเองพอสมควร จนบางทีอาจไม่สามารถนำทฤษฎีพูดคุยเจรจาในพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ มาอธิบายได้
โดยเฉพาะท่าทีและสถานะของ "มารา ปาตานี" จะเห็นได้ว่าเวลาเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ จะรีบออกมาบอกอันทีว่ากลุ่มตนเองไม่ได้เป็นคนทำ คำถามก็คือเมื่อคุณไม่ได้เป็นคนทำให้พื้นที่ "ไม่ปลอดภัย" แล้วคุณจะมาทำข้อตกลง "พื้นที่ปลอดภัย" ได้อย่างไร ที่สำคัญคุณอยู่นอกประเทศ หากมีเครือข่ายเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ "ข้อตกลงใหม่" เพราะคุณไม่ใช่ต้นเหตุของความรุนแรง แต่ต้องการช่วยทำให้ความรุนแรงลดลง แบบนี้ก็สามารถมาร่วมในโครงการทุ่งยางแดงโมเดล หรือโครงการประชารัฐร่วมใจฯ ที่รัฐทำอยู่แล้วได้ทันที
เมื่อพูดถึงประเด็น "แยกดินแดน" ทางมารา ปาตานี ก็บอกว่าพร้อมพูดคุยในแนวทางสันติวิธี และจะแก้ไขปัญหาภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ถ้าเป็นอย่างนี้ สถานะของ "มารา ปาตานี" ก็คือกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัฐกลุ่มหนึ่ง อยากให้เปลี่ยนรูปแบบการบริหาร อยากมีส่วนร่วมในการปกครอง หรือกำหนดทิศทางนโยบาย ฉะนั้นก็ควรวางบทบาทแบบนั้น แต่ไม่ใช่บทบาทผู้สร้างสันติสุข
เพราะการจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่หยุดยิง แล้วสุดท้ายทำไม่ได้ เนื่องจากคุยกันผิดฝาผิดตัว ผิดเรื่อง ผิดประเด็น ถึงที่สุดแล้วจะทำให้สังคมสับสน ประชาชนมึนงง และไม่เชื่อในกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพอีกต่อไป
ที่สำคัญการมี "ข้อตกลง" ใดๆ ที่ไม่ได้มีนัยสำคัญว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นตัวเร่งให้ฝ่ายที่ไม่อยากพูดคุยเจรจาโหมก่อเหตุรุนแรง จนทำให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์เดือดร้อน
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การแถลงข่าวของมารา ปาตานี ที่มาเลเซีย (แฟ้มภาพอิศรา)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2560 ด้วย