ดร.วิโรจน์ ชี้ระยะยาวรพ.รัฐไม่ควรมีหนี้สินล้นพ้นตัว มองงบสปสช.เพิ่มช้ามาตลอด
นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ทีดีอาร์ไอ ชี้รพ.มีหนี้สินได้บ้าง แต่ไม่ใช่หนี้สินล้นพ้นตัว มองการที่รัฐใส่งบกลาง 5 พันล้านช่วยรพ.ขาดสภาพคล่อง จิ๊บจ๊อยมาก ด้านประธานชมรมแพทย์ชนบท ยันที่รพ.รัฐขาดทุนส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนเองโดยไม่รอเงินจากรัฐบาล ระบุ สปสช.ของบฯ ไม่เคยได้ตามที่ขอ
จากกรณีมีข่าวโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุน เพราะโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เป็นหนึ่งในสาเหตุ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น
ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาการเสนองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ไม่เคยได้รับงบประมาณเต็มตามจำนวนที่เสนอขอ อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาโดยตลอด บางรัฐบาล เช่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกแช่แข็งงบประมาณถึง 3 ปี เนื่องจากมาจากภาวะเศรษฐกิจ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม เป็นต้น
"พอมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เราจะได้ยินว่า รัฐบาลให้สปสช.ไปทำค่าใช้จ่ายรายหัว ไม่เกิน 2% ซึ่งสปสช. เสนอไปประมาณ 1.6-1.7% ปกติการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปี จะแบ่งเป็น 1.เงินเดือนและค่าตอบแทน ซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 และเป็นงบเกือบครึ่งหนึ่ง 2.ที่เหลือเป็นงบรักษาคนไข้ นี่เป็นที่มาของงบสปสช.ไม่เคยพอ"ดร. วิโรจน์ กล่าว และว่า งบ 30 บาท เป็นงบที่ไม่พอมาตลอดอยู่แล้ว และยังถูกซ้ำเติมมีการแช่แข็งงบฯ อีก
ดร. วิโรจน์ กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลรัฐหลายบางแห่ง มีตัวเลขติดลบ ซึ่งก็เกิดจากเงินไม่พอ แห่งไหนตัวแดงเยอะขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณอย่างไร และวิธีการจัดสรรงบของ สปสช.ด้วย ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่รัฐบาล สธ. สปสช. ให้เงินไม่พอ ในที่สุดก็จะเจอปัญหาขาดทุนแบบนี้
เมื่อถามถึงรัฐบาลอนุมัติงบกลาง 5 พันล้านบาท ช่วยรพ.ขาดสภาพคล่อง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ถือเป็นเงินเพียงเล็กน้อยมาก หากเทียบกับที่รัฐบาลให้สปสช.ทำงบประมาณเพิ่มไม่เกิน 2% ซึ่งงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ได้รับทั้งสิ้นประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
พร้อมกันนี้ ดร. วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองมาตลอด มีคนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนโครงการ 30 บาท อีกฝ่ายก็ต้องการล้ม 30 บาท ซึ่งก็ไม่ได้พูดตรงๆ มีการใช้วิธีสาดโคลนใส่กัน ฝ่ายสนับสนุนอ้างว่า เงินเพียงพออยู่ที่การบริหารจัดการ แต่หากดูกันจริงๆ ดูจากค่าแรง เงินเฟ้อ เราจะรู้ว่า การจัดสรรงบจากรัฐบาลให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่พอ จากฐานงบเหมาจ่ายรายหัวปีแรกๆ อยู่ที่ 1,200 บาทต่อคน มาถึงปี 2560 งบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3 พันกว่าบาทต่อคน และหากจะรักษามาตรฐาน เงินแค่นี้ทำไม่ได้
"ขณะที่ฝ่ายค้านก็พยายามโยนความผิดให้สปสช. ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัววันนี้ ควรเพิ่ม 2 เท่าจากปัจจุบันเป็นอย่างน้อย" นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า สังคมไทยไม่เคยมีฉันทามติเรื่องต้องการให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนหรือไม่ บางรัฐบาลเรียกโครงการนี้ว่า เป็นทางเลือกสุขภาพสำหรับคนจนด้วยซ้ำไป มองเป็นโครงการชั้น 2 งบประมาณจึงจำกัดจำเขี่ย แตกต่างจากสวัสดิการของข้าราชการ
ดร. วิโรจน์ กล่าวยังกล่าวถึงการดูตัวเลขเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล ก็คือตัวเลขที่โรงพยาบาลมีอยู่ในมือ ในกระเป๋า ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนสถานะที่ดีพอ หลายคนจึงดูเงินบำรุงสุทธิ เป็นเงินบำรุงที่ลบด้วยหนี้สิน หรือหนี้ค้างชำระออกไป
"ในระบบที่ถือว่า Healthy ทางการเงิน รพ.อาจมีหนี้สินได้บ้าง แต่ไม่ใช่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งในระยะยาวโดยเฉลี่ยรพ.ไม่ควรมีหนี้สิน เนื่องจากระบบไม่ได้ออกแบบเพื่อหวังพึ่งเงินในอนาคต เวลาเกิดสถานการณ์เงินไม่พอ ทั้งนี้ โรงพยาบาลรัฐที่ปกติเป็นหนี้ เกิดจากหนี้บริษัทยา เวชภัณฑ์ บริษัทเอกชนเหล่านี้มองโรงพยาบาลเป็นองค์กรของรัฐ ยอมให้ติดหนี้ และมีระดับการติดหนี้แตกต่างกันออกไป นี่เป็นตัวแปรนำมาจัดระดับความวิกฤตแต่ละโรงพยาบาล"
ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการ รพ.ชุมแพ กล่าวว่า ปี 2560 โรงพยาบาลรัฐไม่ได้ขาดทุนหนักกว่าปีที่ผ่าน ๆ สามารถยืนยันได้จากปลัดกระทรวงสาธารณะสุขที่ได้แถลงเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ กรณีที่มีผู้ปล่อยข่าวว่าโรงพยาบาลรัฐขาดทุนหลายสิบแห่ง แต่ท่านปลัดกระทรวงฯ ได้ออกมาชี้แจงว่า มีเพียงแค่ 5 แห่ง โดยในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์ติดลบน่าจะหมายถึงการนำเงินบำรุงทั้งหมดมารวมกัน และหักลบด้วยหนี้สิน โดยหลักการแล้วปัญหาจริง ๆ ไม่ได้มาจากเงินบัตรทองเพียงอย่างเดียว เพราะต้องดูแลผู้ป่วยประเภทบัตรข้าราชการและประกันสังคมด้วย
ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากดูแลผู้ป่วยต่างๆ ยังมีในเรื่องของการลงทุนในส่วนอื่น เช่น การสร้างตึก ปรับปรุงตึก หรือการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยปกติโรงพยาบาลรัฐจะต้องรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่มีบางแห่งไม่รอการลงทุนมาจากรัฐบาล จึงทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นต้องลงทุนด้วยการออกเงินเองไปก่อน
"ส่วนตัวคิดว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีการลงทุนเองโดยไม่รอเงินจากรัฐบาล ทำให้ผลที่ออกมาติดลบ เพราะรายได้ก็มาหลายแห่ง และรายจ่ายก็มาจากหลากแห่ง ต่อมาเรื่องระบบบัญชีของโรงพยาบาลรัฐค่อนข้างที่จะดูลำบาก จึงเป็นไปได้ยากที่จะอธิบายว่า โรงพยาบาลนั้นขาดทุนหรือกำไร ทางกระทรวงมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการเงินและการจัดการมาโดยตลอด อย่างเช่น ปีล่าสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นตัวเลขที่ใช้ในการบริหารจัดการที่จะต้องใช้ไปถึงตอนสิ้นปีงบประมาณของปี 2560 ยกตัวอย่างวิธีจ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ่ายเงินเช่น เงินกองทุนผู้ป่วยนอกและเงินส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันลูก ซึ่งจ่ายเป็นเงินรายหัวภายใน 2 ไตรมาสจ่ายหมดทั้ง 100 %
ในขณะที่ผู้ป่วยในจะจ่ายตามผลงานเป็นรายเดือน เพราะฉะนั้นตอนเอาตัวเลขขึ้นมาโชว์ เป็นการโชว์ตัวเลขของสิ้นปี 2559 ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่1 ของปี 2560 จึงยากที่จะอธิบายได้ว่า โรงพยาบาลเหล่านั้นสถานการ์ทางการเงินเป็นอย่างไร หากพูดถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินต้องมีบ้างเป็นปกติ ส่วนหนึ่งที่เงินไม่พอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สปสช.พยายามที่จะขอจากสำนักงานงบประมาณ แต่มักไม่ได้ครบตามเท่าที่ขอไปจึงต้องมีการแก้ไขในส่วนนั้นๆเอง"
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินบำรุงคงเหลือหักหนี้ ไตรมาส 4 ปี 2559 และไตรมาสแรก ปี 2560 ของโรงพยาบาลสังกัดสธ. มีดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แพทย์ชนบทติงข่าว 18 รพ.ขาดทุน หวั่นปั่นกระแสโยนบาปบัตรทอง
รมว.สธ.เผยนายกฯ อนุมัติงบกลาง 5 พันล้าน ช่วยรพ.ขาดสภาพคล่อง