เรือหลวง 'สุดสาคร' กับโค้งสุดท้ายของโครงการเรือดำน้ำ
“ถ้าโฆษกกองทัพเรือที่มีหน้าที่เป็นตัวแทนกองทัพในการชี้แจงประเด็นที่เป็นเรื่องที่สังคมกำลังสนใจมากที่สุด แต่ “หลุด” ในรายละเอียดเนื้อหาที่เป็น “พื้นฐานที่สุด” ของเรื่องนี้แล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ประเด็นคำถาม 7 ข้อ ที่สังคมกำลังคอยการชี้แจงจากกองทัพเรืออยู่ในขณะนี้จะได้รับคำตอบหรือไม่ หรือถ้าตอบมาแล้วคำตอบเหล่านั้นจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด”
นับว่าเป็นสัปดาห์ที่เข้มข้นสำหรับทั้งฝ่ายที่ “ดัน” โครงการเรือดำน้ำ “จีน” และ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เริ่มตั้งแต่มีการเผยแพร่เอกสารรายละเอียดข้อเสนอของบริษัทต่อเรือดำน้ำ CSOC ที่มาพร้อมกับข้อสงสัยจำนวน 7 ข้อในโลกโซเชียล จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกโรงมาตำหนิอดีตทหารที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบต่อโครงการเรือดำน้ำ ตามด้วยการรับลูกของกองทัพเรือโดย พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาและโฆษกกองทัพเรือ ที่นำประเด็นเรื่องเรือดำน้ำมาชี้แจงในการประชุมทางวิชาการของกองทัพเรือ ครั้งที่ 9 เรื่อง “สมุทราภิบาลและเศรษฐกิจทางทะเลของไทยกับบทบาทของกองทัพเรือ” รวมทั้งการเดินสายให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสิ่งที่โฆษกกองทัพเรือได้ชี้แจงกับสาธารณชนกลับไม่มีประเด็นใหม่ที่สามารถขจัดข้อกังขาต่างๆ เกี่ยวกับเรือดำน้ำจีนได้ มีเพียงการอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการที่กองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำ กับบอกแต่เพียงว่าเรือดำน้ำจีน “ดีและคุ้มค่า” เท่านั้น
เอกสาร “หลุด” กับคำถามที่ไร้คำชี้แจง
ในที่สุดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่กระทรวงกลาโหมจะการนำวาระเรือดำน้ำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติผูกพันงบประมาณจาก ครม. ก็ปรากฎว่ามีการเผยแพร่เอกสารในโลกโซเชี่ยลที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารรายละเอียดข้อเสนอของบริษัท China Shipbuilding & offshore International Co., Ltd. (CSOC) ที่เสนอต่อกองทัพเรือพร้อมกับมีการเน้นประเด็นกังขาจนที่เป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใดเรือดำน้ำจีนถึงกลายเป็นคำตอบสุดท้ายของกองทัพเรือได้ทั้งที่:
- ขนาดที่ใหญ่เกินไป เรือดำน้ำจีนสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระเมื่อทำการดำที่ความลึก 60 ม. มากกว่าความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยที่ 50 ม. ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระเมื่อทำการดำตั้งแต่ความลึกเพียง 40 ม. ส่งผลให้เรือดำน้ำจีนมีข้อจำกัดในการปฏิบัติการในอ่าวไทยหรือแม้แต่การเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบซึ่งเป็นฐานทัพหลักของกองทัพเรือผ่านอ่าวไทยไปสู่พื้นที่ปฏิบัติการก็ต้องเดินเรือบนผิวน้ำเป็นระยะทางไกลกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นจนกว่าจะถึงบริเวณที่ความลึกน้ำเพียงพอต่อการดำ ส่งผลเสียต่อการรักษาความลับ
- ความเร็วและระยะปฏิบัติการที่น้อยกว่าแบบอื่น เรือดำน้ำจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 18 นอต ได้เพียง 10 นาที ในขณะที่เรือแบบอื่นสามารถใช้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 20 นอต ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง รวมทั้งมีระยะปฏิบัติการเพียง 8,000 ไมล์ ในขณะที่เรือแบบอื่นมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์
- ระบบ AIP ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีอย่างที่คิด สามารถใช้ระบบ AIP จีน ในการลาดตระเวนได้เพียง 10 วัน ในขณะที่ระบบ AIP ของเรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้มากกว่า 2 สัปดาห์
- อายุการใช้งานสั้นกว่าแบบอื่น อายุการใช้งานของเรือดำน้ำจีนอยู่ที่ 25 ปี ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นมีอายุการใช้งาน 35 ปี ขึ้นไป
- อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ต่ำมาก สามารถทำการชาร์จได้เพียง 200 ครั้ง ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้มากกว่า 1,200 ครั้ง
- การหนีออกจากเรือดำน้ำในกรณีฉุกเฉินมีความปลอดภัยต่ำกว่าแบบอื่น ความลึกสามารถทำการหนีได้คือ 100 ม. ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้มากกว่า 180 ม.
- ระบบอาวุธมีประสิทธิภาพต่ำมาก สามารถติดตามการเคลื่อนที่เป้าได้พียง 4 - 6 เป้าหมาย ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้มากกว่า 100 เป้าหมาย รวมทั้งทำการยิงอาวุธได้พร้อมกันไม่เกิน 2 ลูก ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นยิงได้มากกว่า 4 ลูก พร้อมกัน
เอกสารรายละเอียดข้อเสนอของบริษัทต่อเรือดำน้ำ CSOC และประเด็นคำถาม
เรือดำน้ำเอนกประสงค์กับการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมทางวิชาการของกองทัพเรือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เรือดำน้ำจะช่วยสำรวจและดูแลทรัพยากรทางทะเล แต่ขณะนี้ทำได้ไม่เต็มรูปแบบ เพราะขาดเครื่องไม้เครื่องมือ นั้นคือ เรือดำน้ำ มองว่าสังคมต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในมิติของเศรษฐกิจ อย่ามองแต่มุมความมั่นคงเพียงอย่างเดียว การมีเรือดำน้ำ จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต เนื่องจากขุมทรัพย์ของโลกในอนาคตอยู่ในทะเล และจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ” ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ของโฆษกกองทัพเรือในสื่ออื่นๆ ก็ยังนำเหตุผลนี้มาประกอบเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น เรือดำน้ำที่ใช้ในทางการทหารไม่มีขีดความสามารถในการสำรวจใต้ทะเลแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์สำรวจตรวจจับที่สามารถใช้งานได้ในลักษณะดังกล่าว วาทกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าในโค้งสุดท้ายนี้กองทัพเรือกำลังใช้แนวทาง “ทำอะไรก็ได้ พูดอย่างไรก็ได้ ให้โครงการเรือดำน้ำจีนผ่านก็พอ” แม้ว่าสิ่งที่ทำจะถือได้ว่าเป็นเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผิดหลักวิชาการ และเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของคนไทยผู้เสียภาษีก็ตาม
“เรือหลวงสุดสาคร” กับวิกฤตศรัทธาของโครงการเรือดำน้ำ
นอกจากนั้นในระหว่างการให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า Facetime ทางช่อง SpringNews โฆษกกองทัพเรือได้อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ โดยระบุว่า ประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำประจำการจำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และ “เรือหลวงสุดสาคร” ฟังดูเผินๆ อาจไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ผู้ที่มีความรู้รอบตัวหรือแม้แต่เพียงติดตามข่าวเกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำในยุคปัจจุบันอย่างต่อเนื่องย่อมทราบดีว่าแท้จริงแล้วเรือดำน้ำของไทยที่เคยจัดหาจากญี่ปุ่นและใช้งานในช่วงสงครามอินโดจีนได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และ “เรือหลวงพลายชุมพล” มิใช่เรือหลวงสุดสาครอย่างที่โฆษกกองทัพเรือให้สัมภาษณ์ ซึ่งหากมองในแง่ดีก็อาจเป็นเพียงแค่การพลั้งเผลอ
แต่ในการให้สัมภาษณ์ในหัวข้อเดียวกันในรายการตอบโจทย์ทางช่อง Thai PBS โฆษกกองทัพเรือก็ยังยืนยันว่า “เรือหลวงสุดสาคร” เป็นหนึ่งในเรือดำน้ำชุดเก่าของกองทัพเรือเช่นเคย ส่อให้เห็นว่าไม่ใช่การพูดผิดแต่เป็นการเข้าใจผิดจริงๆ อย่างที่ไม่น่าให้อภัย
พิธีปล่อยเรือหลวง “พลายชุมพล” ลงน้ำ ณ อู่ Mitsubishi เมืองโกเบ วันที่ 14 พ.ค.2480
ภาพจาก Website กรมยุทธศึกษาทหารเรือ http://www.navedu.navy.mi.th
ถ้าโฆษกกองทัพเรือที่มีหน้าที่เป็นตัวแทนกองทัพในการชี้แจงประเด็นที่เป็นเรื่องที่สังคมกำลังสนใจมากที่สุด แต่ “หลุด” ในรายละเอียดเนื้อหาที่เป็น “พื้นฐานที่สุด” ของเรื่องนี้แล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ประเด็นคำถาม 7 ข้อ ที่สังคมกำลังคอยการชี้แจงจากกองทัพเรืออยู่ในขณะนี้จะได้รับคำตอบหรือไม่ หรือถ้าตอบมาแล้วคำตอบเหล่านั้นจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าเรือดำน้ำ “จีน” ที่นอกจากจะมีโปรโมชั่น “ซื้อ 2 แถม 1” แล้ว มีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ที่จะสามารถใช้งานได้อย่างคุ้มเงินภาษีอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำจากประเทศอื่นอีก 5 บริษัทที่มีประสบการณ์ในการต่อเรือดำน้ำเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมามากกว่าจีน ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน และรัสเซีย (จำนวนประเทศที่ยื่นเสนอแบบเรือจึงมีทั้งหมด 6 ประเทศ อ้างอิงตาม เอกสารสมุดปกเขียวที่กองทัพเรือเคยเผยแพร่ ในขณะที่ครั้งนี้ โฆษกกองทัพเรือกลับกล่าวว่ามีบริษัทต่อเรือดำน้ำยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 7 ประเทศ???)
หรือกองทัพยังมีบทเรียนที่ไม่เพียงพอจากยุทโธปกรณ์ด้อยประสิทธิภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างแท้จริง???