UNFPA พบครอบครัวคู่สามีภรรยาไม่มีลูก พุ่ง 3 เท่า - ชนบทสูงกว่าในเมือง
สสส.-ยูเอ็นเอฟพีเอ เปิดเสียงสะท้อนเยาวชนถึงสถานการณ์ครอบครัวไทย 4.0 พบอยู่ในระดับอบอุ่น-เข้มแข็ง สิ่งที่เยาวชนต้องการจากครอบครัวไทย อันดับ 1 ความรักต่อกัน ตามด้วยเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ทะเลาะ ใช้ความรุนแรง ชี้ทะเลาะแบบเงียบงัน ความรุนแรงรูปแบบหนึ่งในครอบครัวที่เยาวชนไม่ต้องการ ขณะที่รูปแบบครอบครัวไทยหลากหลายมากขึ้น “ครอบครัวเพศเดียวกัน อยู่คนเดียว ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ”
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UNFPA Thailand และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มเยาวชน จัดแถลงข่าว "คลี่ครอบครัวไทย 4.0”
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงสถานการณ์ครอบครัวไทยว่า จากผลสำรวจสถานการณ์ครอบครัวไทย โดยศูนย์วิจัยด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สสส. ยูเอ็นเอฟพีเอ และคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ม.สงขลานครินทร์ สำรวจความคิดเห็นจากตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศ อายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 824 คน ในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งประกอบด้วยเพศหญิง 57% เพศชาย 42% และอื่นๆ 1% รูปแบบครอบครัวไทย ส่วนใหญ่ 59% เป็นครอบครัวพ่อ แม่ ลูก ตามด้วยครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 16% ครอบครัว 3 รุ่น 15% ครอบครัวข้ามรุ่น 5% ที่เหลือคืออยู่คนเดียว สามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ เป็นต้น
นางเพ็ญพรรณ กล่าวว่า ครอบครัวในความหมายของเยาวชน อันดับ 1 คือ ความรัก ผูกพันต่อกัน 41% ตามด้วย การอยู่ร่วมกัน 29% การมีงานทำ มีรายได้ของหัวหน้าครอบครัว 15% และการให้การศึกษาแก่สมาชิก 15%
สำหรับความรู้สึกต่อวันครอบครัวพบว่า เกินครึ่งรู้สึกเฉยๆ (54%) ตามด้วยดีใจ 43% เสียใจ 2% และอื่นๆ 1% โดยสิ่งที่นึกถึงในวันครอบครัว 45% คือความสุข ตามด้วยการไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน 40%
เมื่อถามถึง ความเข้มแข็งของครอบครัว พบว่า สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเยาวชนมองว่า ครอบครัวมีความเข้มแข็งมาก 52% ความอบอุ่นอยู่ในระดับมาก 52% ทั้งนี้พบว่า มีเยาวชน 10% ที่ระบุว่าครอบครัวไม่เข้มแข็งและไม่อบอุ่นเลย
ส่วนความสุขเมื่อได้อยู่กับครอบครัว 83% มีความสุขมาก เช่นเดียวกับความปลอดภัยเมื่อได้อยู่กับครอบครัว 92% เยาวชนรู้สึกปลอดภัย ส่วนการยอมรับและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องครอบครัว พบว่า ครอบครัวไทยเปิดโอกาสให้กับเยาวชนในระดับมาก 56% ตามด้วยปานกลาง 37% ทั้งนี้รูปแบบของครอบครัวพ่อแม่ลูกจะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด ขณะที่ครอบครัวข้ามรุ่นเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับที่น้อย
นางเพ็ญพรรณ กล่าวอีกว่า ลักษณะครอบครัวที่เยาวชนต้องการ อันดับ 1 คือความรักต่อกัน 24% ตามด้วยอันดับ 2 การมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรง 22% อันดับ 3 มีบ้าน ที่อยู่เป็นของตนเอง 20%
และเมื่อถามถึงความกังวลต่อครอบครัว ในภาพรวมเยาวชนกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพเป็นอันดับ 1 ตามด้วยอันดับ 2 คือ การทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง และอันดับ 3 คือ หนี้สิน
อย่างไรก็ตามหากจำแนกตามกลุ่มรายได้ จะพบว่า เยาวชนในกลุ่มรายได้น้อย มีความกังวลเรื่องหนี้สินเป็นอันดับ 1 ตามด้วยปัญหาอบายมุขและสิ่งเสพติด และการไม่มีบ้านและรถ ทั้งนี้ในสายตาของเยาวชนต่อสถานการณ์ของครอบครัวสังคมไทยในภาพรวม กลับมองว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงถึง 70% ขณะที่มองว่าน่าชื่นชม 20% และเฉยๆ 10%
“จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ครอบครัวไทยในมุมมองของเยาวชน อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยความรัก ความห่วงใย และการใช้เวลาร่วมกัน เป็นสิ่งที่เยาวชนต้องการจากครอบครัวไทยมากที่สุด ซึ่งหากดูจากการใช้เวลาของประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวดีขึ้น จาก 2 ชั่วโมง เป็นเกือบ 3 ชั่วโมง คำถามที่ตามมาคือ เวลาที่ให้กับคนในครอบครัว 3 ชม. ทำอย่างไรถึงกลายเป็นเวลาที่มีคุณภาพ เช่นเด็กปฐมวัยการเล่นกับลูกตามช่วงวัยที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ในวัยเรียนควรหากิจกรรมเพื่อกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้และทักษะชีวิต และวัยรุ่น พ่อแม่ต้องใช้ทักษะการฟังให้มากกว่าเดิม และพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติดูแลต่อผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว และการให้ใกล้ชิดกับเด็กตั้งแต่เล็กจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันแก่เด็กเมื่อโตขึ้น” นางเพ็ญพรรณ กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานเยาวชน UNFPA กล่าวถึงภาพรวมของครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 พบว่า ครอบครัวสามรุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในชนบท ส่วนครอบครัวพ่อแม่ลูก ซึ่งเคยเป็นครอบครัวหลักลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง สำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ยังพบครอบครัวข้ามรุ่นและครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ดังนั้นรูปแบบครอบครัวในปัจจุบัน อันดับ 1 ครอบครัวสามรุ่น 37% อันดับ 2 ครอบครัวพ่อแม่ลูก 27% อันดับ 3 คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร 16% อันดับ 4 ครัวเรือนอยู่คนเดียว 14% อันดับ 5 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7% อันดับ 6 ครัวเรือนข้ามรุ่น 2% และอันดับ 7 ครัวเรือนที่ไม่ใช่ญาติ 1% ซึ่งมีความเป็นชุมชนแบบหนึ่ง ทั้งชุมชนของเพื่อนฝูง หรือคนที่ไม่ใช่ญาติ แต่มีสายสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
น.ส.ณัฐยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งปัจจุบันการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกันในไทยยังไม่ได้รับรองสถานภาพทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ สิทธิและสวัสดิการจากภาครัฐที่จัดให้แก่คู่สมรสและบุตร อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้ การรักษาพยาบาล การรับบุตรบุญธรรม การรับมรดก เป็นต้น ดังนั้นความหมายของครอบครัวยุคใหม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงไม่สามารถใช้ความหมายแบบเดิมไปเป็นตัวกำหนดนโยบายหรือบริการแบบเดิมได้ ถ้ากฎหมายและระบบสวัสดิการปรับตัวไม่ทัน เราก็จะละเลย กีดกันคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะติดตามสถานการณ์ได้ทันการณ์คือการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะให้มากขึ้น