กษิต ชี้ไทยหลุดพ้นไปวังวนทุจริต ต้องเปิดข้อมูลให้เป็นสาธารณะ ปชช.เข้าถึงตรวจสอบได้
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35-เครือข่ายองค์กรประชาชน จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า อดีตรมว.คลังห่วงหลังมีกระแสข่าว กระทรวงพลังงานเร่งเปิดประมูลแปลงเอราวัณและบงกช หวั่นประเทศไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ด้านอดีตรมว.ต่างประเทศ เชื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ป้องกันทุจริตได้ พร้อมชี้จุดอ่อนโครงสร้างองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่ขรก.กุม ไม่ได้อุทิศตนต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรประชาชน จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า ครั้งที่ 5 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวขอบคุณสังคมไทย ประชาชน นักวิชาการ อดีตนักการเมือง อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ได้แจ้งข้อมูลการทุจริตค่อนข้างมากในช่วงนี้ รวมถึงการตั้งข้อสงสัยการทุจริตของทุกภาคส่วนด้วย รวมถึงการผลักดันโครงการใหญ่ที่เกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลไม่สามารถจะตรวจสอบได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ ทางคณะก็ได้พยายามจะสนับสนุนแนวทางของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศอยู่ตลอดเวลานับจากวันที่ได้ทำการยึดอำนาจรัฐประหารว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองนี้มีปัญหาเกิดจากการที่นักการเมือง ข้าราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริต จึงทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายและลำบากมากในขณะนี้
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องพลังงานที่มีการติดตามและประชาชนให้ความสนใจ ในขณะนี้ได้มีการผ่านพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่ไปแล้ว และได้มีข่าวทันทีว่าทางกระทรวงพลังงานจัดเตรียมการที่จะเร่งดำเนินการที่จะเปิดประมูลแปลงเอราวัณและบงกช ซึ่งเป็นแปลงที่มีผลประโยชน์สูงมาก และในขณะนี้ก็มีข้อสงสัยและข้อกังวลเกิดขึ้นจากภาคประชาชน
“ ในประการแรก คือ แนวโน้มหรือคำพูดจากผู้ใหญ่ในกระทรวงพลังงานที่ออกมาพูดในลักษณะเหมือนกับว่า น่าจะมีการให้คะแนนกับผู้ที่รับสัมปทานไปเลย มากกว่ารายใหม่ ซึ่งกรณีนี้หมายถึงบริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือ (ปตท.สผ) ที่ได้รับสัมปทานในแหล่งเอราวัณและบงกช ถ้าเป็นอย่างนั้นจึงคิดว่า นั่นถือเป็นการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง เพราะทำให้การแข่งขันในการที่จะให้ประโยชน์แก่ประเทศนั้น เป็นไปอย่างไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น “
นายธีระชัย กล่าวว่า ประการที่สองมีข้อกังวลของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามกฎหมายใหม่ ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ระมัดระวัง สิ่งที่จะตกเป็นประโยชน์ของประชาชนโดยรวม อาจจะตกไปเป็นของบางบริษัทก็ได้ ในส่วนนี้จึงคิดว่า เป็นหน้าที่ ที่จะต้องกระจายออกไปให้กว้างขึ้นมากกว่าเดิม จากการพิจารณาและการติดตามเฉพาะในกลุ่มเล็กนั้น ก็ต้องหาทางที่จะกระจายประเด็นความสนใจและประชาชนโดยทั่วไปตั้งเป็นคำถามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงการปราบปรามทุจริตที่ยังไม่สำเร็จ เป็น เพราะว่า ผู้ที่เข้าไปทำงานในองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ แต่การเข้ามาทำงานเป็นองค์กรอิสระนั้น จะต้องสร้างความสะอาดของประเทศไทย โดยต้องมีใจ และมีการอุทิศชีวิต และในใจต้องเป็นนักอุดมคติ นักต่อสู้ และนักเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้องในสังคมด้วย
“หากลองมองย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ขององค์กรมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบเหล่านี้มักจะไม่ใช่ เพราะองค์กรเหล่านี้กลายเป็นสำนักงานของราชการประจำมากกว่าที่จะเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว เคลื่อนไหว และต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคม เพราะฉะนั้นในตัวโครงสร้างถือที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญ และจะมีการแก้ไขอย่างไร”
นายกษิต กล่าวอีกว่า ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง และรับผิดชอบเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง ก็ได้เสนอว่า ต่อไปนี้ ใครก็ตามที่จะเข้ามารับผิดชอบในงานการเมือง องค์กรอิสระ และองค์มหาชนทั้งหลายนั้นจะต้องผ่านโรงเรียนการเมือง จะทำโดยสถาบันพระปกเกล้าหรือจะมีโรงเรียนการเมืองขึ้นมาใหม่ ก็ต้องมาฝึกอบรมเรื่องของประชาธิปไตยมาก่อน อีกทั้งการปิดหูปิดตาประชาชน และการเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ขาดตอนมาก เมื่อประชาชนได้เข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ภาคเอกชน แม้กระทั่งการประมูลที่เอกชนเข้าไปประมูลงาน ยิ่งได้รู้เท่าไร ประชาชนโดยปริยายก็จะมาเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเรียกร้องเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลให้ได้อย่างเต็มที่
สิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น นายกษิต กล่าวว่า คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน และประเทศที่จะเห็นเป็นตัวอย่าง เช่นประเทศลักเซมเบิร์ก และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์ จะมีการลงประชามติ 4 ครั้งต่อปี ในเรื่องสำคัญของระดับประเทศ และจะมีข้อมูลมาให้ประชาชน ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ล่วงหน้า 3 เดือน
ในเรื่องของประชาธิปไตย นายกษิต กล่าวด้วยว่า ในอนาคตจะต้องลดความเป็นประชาธิปไตยแบบผู้แทน และควบคู่ไปกับการเปิดข้อมูลทั้งหมดให้เป็นข้อมูลสาธารณะ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นจะทำได้ ซึ่งต้องให้อำนาจกลับไปที่ประชาชน ฉะนั้นประชาชนจะเข้มแข็งได้ ประชาชนต้องเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสารเข้าร่วมวิพากษ์วิจารณ์และต้องเป็นผู้ตัดสินในที่สุด ไม่ใช่โดยเสียงข้างมากที่เป็นเผด็จการในรัฐสภา ดังนั้นนี่ถือเป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทยหลุดพ้นไปจากวังวนของทุจริตคอร์รัปชั่น
“ผมแน่ใจว่า เราสามารถเป็นประเทศพัฒนาและประเทศประชาธิปไตยได้สมบูรณ์ ภายใน 10 -15 ปี ข้างหน้า ถ้าเกิดเราเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้”