เยียวยาใต้วุ่นหนัก "ครู-ชาวบ้าน" ฮือร้องรัฐจ่ายเท่าเทียม กรือเซะพลิกส่อวืด 7.5 ล้าน
เยียวยาใต้วุ่นหนัก เครือข่ายครูและชาวบ้านหลายอำเภอนัดรวมตัวยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาค 4 เลขาฯศอ.บต.เรียกร้องเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทเท่ากับ 4 เหตุการณ์ที่รัฐประกาศจ่ายให้เป็นกรณีพิเศษ ลั่นถ้าไม่ได้เท่ากันถือว่าไม่เป็นธรรม ระบุเฉพาะกลุ่มครูล่าชื่อสนับสนุนได้แล้วไม่ต่ำกว่า 300 ราย เผยชีวิตเศร้าครูสตรีสามีถูกยิงบาดเจ็บได้ 2.5 แสน ต่อมาเสียชีวิตไม่ได้รับเพิ่มสักบาท ด้านญาติเหยื่อกรือเซะเครียด ศอ.บต.ส่งสัญญาณได้ไม่ถึง 7.5 ล้าน อ้างเหตุเป็นฝ่ายกระทำเจ้าหน้าที่รัฐก่อน
กลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบเพียงบางกลุ่มในพื้นที่ในอัตราไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ซึ่งพวกเขามองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ.2555 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี แกนนำชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับแกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้นัดหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท
เล็งยื่นหนังสือ "แม่ทัพ-เลขาฯศอ.บต."
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าหลักเกณฑ์การเยียวยาที่ประกาศออกมาสร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่ ส่งผลให้เสียสิทธิและมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท จึงต้องรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหว
"คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะเดินสายยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.เพราะเราเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบอีกจำนวนมากควรได้รับการเยียวยาในอัตราเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาหลายคนได้รับเงินเยียวยาในอัตราที่ไม่เหมาะสม บางรายไม่ได้รับเงินเยียวยาเลยด้วยซ้ำ" แหล่งข่าวซึ่งเป็นแกนนำข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุ และว่าจนถึงขณะนี้ล่าชื่อครูที่สนับสนุนได้กว่า 300 รายแล้ว
แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกอีกว่า กรณีของครูและผู้ได้รับผลกระทบถึงชีวิตอีกเกือบ 5 พันรายประสบชะตากรรมไม่ได้ต่างอะไรกับกรณีกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแย (ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 8 มิ.ย.2552) ซึ่งไม่มีการสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ แต่รัฐบาลกลับแยกเยียวยาให้กรณีไอร์ปาแยเป็นกรณีพิเศษ
สูญเสียสามีได้แค่ 2 แสนห้า
ข้าราชการครูสตรีรายหนึ่งจาก อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า สามีของนางซึ่งเป็นครูด้วยกันถูกยิงเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2549 ได้รับบาดเจ็บและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 71 วัน หลังจากนั้นก็กลับมาอยู่บ้านและเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องเพราะหลังถูกยิงต้องผ่าตัดอวัยวะหลายส่วนจนอาการทรุด ระหว่างที่สามีได้รับบาดเจ็บ ครอบครัวของนางได้รับเงินเยียวยาเพียง 2.5 แสนบาท หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับอีกเลย เมื่อสามีเสียชีวิตแล้วก็ไม่ได้อีก แม้จะพยายามขอเพิ่มเงินเยียวยาก็ไม่ได้รับการตอบรับจากส่วนราชการที่รับผิดชอบ
"ที่ผ่านมาไม่สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ เพราะเป็นข้าราชการ จะนัดประชุมกับผู้เดือดร้อนด้วยกันก็ถูกกีดกัน หัวหน้าหน่วยงานก็ไม่อนุญาตให้ลาราชการ" ข้าราชการครูจาก อ.จะนะ ที่ต้องสูญเสียสามี กล่าว
กรณีตายรายวันไม่ต่าง "ไอร์ปาแย"
ขณะที่ชาวบ้านจาก อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ จาก อ.เบตง กล่าวว่า ถูกยิงและต้องผ่าตัดลำไส้ ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ 3 แสนบาท และหลังจากนั้นก็กลับมาอยู่ที่บ้าน แต่เนื่องจากรู้สึกกลัว ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่อีกต่อไป จึงบอกขายที่ดิน แต่ก็ถูกกดราคา ที่ดิน 50 ไร่ขายไปแค่ 5 แสนบาท หลังจากนั้นก็ต้องขายบ้าน 3 ห้องไปอีก 3 แสนบาท
"รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับการที่รัฐโยนเศษเงินให้ เราทราบดีว่าการเยียวยาด้วยยอดเงิน 7.5 ล้านบาทเป็นผลพวงจากที่รัฐบาลต้องการจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมที่กรุงเทพฯเท่านั้น แต่ข่าวเรื่องเงินเยียวยา 7.5 ล้านทำให้ทุกคนในพื้นที่มีปัญหา หลายคนมองว่ารัฐไม่ให้ความเป็นธรรม อย่างกรณีกรือเซะ คนที่ถูกยิงเป็นคนที่ต่อสู้โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน รัฐต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัว แต่กลับได้รับ 7.5 ล้านบาท หรือกรณีไอร์ปาแยก็ไม่ได้สรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ แต่ก็ได้รับ 7.5 ล้านบาทเช่นกัน แต่ชาวบ้านที่ถูกฆ่าตายแทบทุกวันกลับไม่ได้อะไรเลย"
เขาเสนอว่า สิ่งที่รัฐควรจัดการให้กับประชาชนที่นี่คือสร้างความกินดีอยู่ดี หาอาชีพให้ และดูแลเรื่องการศึกษา ส่วนเงินหากจะให้ก็ควรอนุมัติเป็นงบประมาณมา แล้วหารเฉลี่ยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกรายเท่าๆ กัน จะได้ไม่เกิดปัญหาทางความรู้สึก
เปิดหลักเกณฑ์ใหม่จ่ายเยียวยา
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นอีก 2 ส่วน คือ
1.ตามระเบียบและประกาศของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.รายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาทกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ แต่จำกัดเฉพาะกลุ่มที่ถูกกระทำในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีผลย้อนหลังถึงแค่วันที่ 1 ต.ค.2554 เท่านั้น
2.ตามมติของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งเพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา อนุมัติจ่ายเงินเยียวยากรณีเฉพาะ 4 กรณี เป็นเงินไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คือ กรณีกรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และคนสูญหาย ส่วนกรณีอื่นจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป แต่ยังไม่มีการสรุปตัวเลขว่าเป็นเท่าใด
กรือเซะพลิกส่อวืด "7.5 ล้าน"
มีความคืบหน้าการพิจารณาหลักเกณฑ์เยียวยาของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นประธาน ซึ่งได้ตั้งคณะอนุกรรมการหลายชุดเพื่อเร่งพิจารณาและสรุปหลักเกณฑ์กรณีต่างๆ โดยในส่วนของเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งจัดเป็น "กรณีพิเศษเฉพาะ" โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเน้นย้ำว่าต้องได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทนั้น ล่าสุดอาจมีโอกาสพลิกผัน
ในงานเมาลิดที่จัดขึ้นโดยครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะในพื้นที่ จ.ปัตตานี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีสมาชิกครอบครัวผู้สูญเสียเดินทางไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ในงานดังกล่าวได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาร่วมพบปะพูดคุยกับชาวบ้านด้วย ปรากฏว่าผู้บริหารรายดังกล่าวได้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการพิจารณาหลักเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยเยียวยาว่า กรณีกรือเซะอาจได้ไม่ถึง 7.5 ล้านบาท เนื่องจากอนุกรรมการหลายคนท้วงติงว่า เป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายผู้สูญเสียโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน จนเกิดการยิงตอบโต้ และนำไปสู่ความสูญเสีย แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำเกินกว่าเหตุ แต่ต้นตอของเหตุการณ์ก็เริ่มจากการโจมตีเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นหลักเกณฑ์การจ่ายจึงไม่ควรเท่ากับกรณีที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน
ญาติเหยื่อกรือเซะรายหนึ่ง เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า รู้สึกสับสนกับเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา เพราะที่ผ่านมาทั้งผู้ใหญ่และสื่อพูดไปในทางเดียวกันว่ากรณีกรือเซะจะได้รับเงิน 7.5 ล้านบาทอย่างแน่นอน ทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียทุกรายตั้งความหวัง แต่ตอนหลังกลับมาบอกว่าไม่ได้ 7.5 ล้าน ทำให้ทุกคนเสียความรู้สึกอย่างมาก
"ที่สำคัญอนุกรรมการหลายคนก็เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นผู้นำในท้องถิ่นที่รับรู้เหตุการณ์มาโดยตลอด และยกเหตุการณ์กรือเซะเป็นข้อต่อสู้กับรัฐมาตลอดว่ารัฐเป็นฝ่ายกระทำ แต่วันนี้กลับมาเห็นว่าผู้ที่เสียชีวิตไปโจมตีเจ้าหน้าที่ก่อน แสดงว่าที่ผ่านมาใช้พวกเราเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับรัฐใช่หรือไม่" ญาติเหยื่อรายหนึ่งตั้งคำถาม
เปิดปูม "กรือเซะ-ตากใบ-ไอร์ปาแย"
สำหรับเหตุการณ์เฉพาะที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน หรือเป็นความสูญเสียขนาดใหญ่ที่ส่งผลลบต่อประเทศไทยในสายตานานาชาตินั้น ประกอบด้วย 3 เหตุการณ์ คือ กรือเซะ ตากใบ และไอร์ปาแย ซึ่งมีรายละเอียดของเหตุการณ์ดังนี้
เหตุการณ์กรือเซะ คือความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์นับร้อยคนใช้มีดและไม้เป็นอาวุธ กระจายกันโจมตีจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวม 11 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธตอบโต้จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 108 ราย (เป็นเจ้าหน้าที่ 1 ราย) โดยจุดที่มีความสูญเสียมากที่สุด คือที่มัสยิดกรือเซะ โดยผู้ก่อเหตุได้วิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิด และภายหลังฝ่ายทหารได้ใช้อาวุธหนักยิงถล่มจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย
เหตุการณ์ตากใบ คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายไปสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยใช้วิธีจับถอดเสื้อมัดมือไพล่หลังเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซี รวม 85 ราย และมีผู้บาดเจ็บพิการอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
เหตุการณ์ไอร์ปาแย คือ เหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าไปกราดยิงชาวมุสลิมขณะกำลังละหมาดอยู่ในมัสยิดอัลฟุรกอน ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บอีก 12 ราย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานในชั้นศาล โดยอัยการจังหวัดนราธิวาสสั่งฟ้อง นายสุทธิรักษ์ หรือ จุ๋ม คงสุวรรณ เป็นจำเลยในคดีสังหารหมู่ในมัสยิดไอร์ปาแย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพเหตุการณ์หลังคนร้ายลอบยิง ครูนภดล ศศิมณฑล ครูโรงเรียนตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 3 ส.ค.2554 ฝีมือ จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากเนชั่น