วิเคราะห์ 3 ปัจจัยเร่งไฟใต้โชน...โชว์ผลงาน-ต้านรธน.-ตอบโต้วิสามัญฯ
ต้องยอมรับว่าการเลือกจังหวะเวลาก่อเหตุสร้างความปั่นป่วนของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงสร้างความสับสนในแง่ "มูลเหตุจูงใจ" ให้กับฝ่ายความมั่นคงและประชาชนทั่วไปที่เฝ้าสังเกตการณ์
ดังเช่นเหตุลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้ากว่า 50 ต้น กระจายในเกือบ 20 อำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงกลางดึกคืนวันที่ 6 เม.ย.60 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ทำให้ปฏิบัติการของคนร้ายถูกมองในมิติการเมืองด้วยเหมือนกัน เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะผ่านประชามติจากคนไทยทั้งประเทศ แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คะแนนออกมา "โหวตโน" คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
จุดนี้เองที่ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเองก็ยังให้น้ำหนักว่าน่าจะเป็น 1 ใน 2 ปัจจัยที่ทำให้มีการสร้างสถานการณ์ โดยอีก 1 ปัจจัยคือการแสดงศักยภาพหลังเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ของบีอาร์เอ็น
"ที่ผ่านมามีการข่าวแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อเหตุ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลงมือในช่วงนี้ ขอเวลาตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่าทำเพราะอะไร หรือเกี่ยวกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการหรือไม่ หรือเป็นการแสดงศักยภาพของ นายดูนเลาะ แวมานอ ผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่" เป็นมุมวิเคราะห์ของ พล.อ.ประวิตร
ก่อนหน้านี้มีข่าวสารจากฝ่ายทหารว่า แกนนำบีอาร์เอ็นทั้ง 3 กลุ่ม คือ อูลามา คองเกรส และโคออร์ดิเนต ได้จัดประชุมที่ฝั่งมาเลเซีย และลงมติเลือก นายดูนเลาะ แวมะนอ ผู้บัญชาการฝ่ายกองกำลัง ขึ้นเป็นผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่แทน นายสะแปอิง บาซอ อดีตผู้นำที่เสียชีวิตไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
นายดูนเลาะเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเพิ่งถูกศาลแพ่งสั่งยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของแผ่นดิน คดีสิ้นสุดเพราะครอบครัวไม่ยื่นอุทธรณ์ เมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว
ทั้งช่วงก่อนและหลังการเสียชีวิตของนายสะแปอิง สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างสงบนิ่ง คาดว่าเป็นการรอความชัดเจนเรื่องผู้นำ เพราะในพิธีละหมาดฆออิบ หรือละหมาดศพโดยไม่มีศพที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและญาติมิตรผู้เคารพศรัทธาจัดให้นายสะแปอิง มีเสียงพูดจาจาก "คนในขบวนการ" ทำนองว่า "เปิดเทอมแล้วเจอกันใหม่" สะท้อนนัยว่าสถานการณ์โดยรวมที่ดูคลี่คลายลง เป็นเพียงการ "หยุดพัก" เพื่อรออะไรบางอย่าง หาใช่ "ยุติถาวร" เหมือนที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามตีความ
ฉะนั้นหากประเมินการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการในระยะหลัง ก็ต้องยอมรับว่าเหตุปัจจัยเรื่องการแสดงศักยภาพของผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่ก็มีน้ำหนักน่าเชื่ออยู่พอสมควร เพราะเป็นการก่อเหตุที่ใช้คนจำนวนมาก กระจายในหลายอำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเป็นการประกาศศักดาว่าพวกเขายังทำได้ และมีกำลังคนหนุนเนื่องอยู่ไม่น้อย
สอดคล้องกับ 2 เหตุการณ์ใหญ่ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ตั้งด่านเถื่อนปล้นรถกระบะที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ก่อนขับรถไปกราดยิงหน้าโรงพักระแงะ จ.นราธิวาส จนมีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 5 นาย และวันที่ 3 เม.ย. บุกโจมตีจุดตรวจร่วมที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ทำให้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บอีก 12 นาย โดยทั้งสองเหตุการณ์ล้วนใชักำลังคนในการก่อเหตุมากกว่า 20 คน ใช้อาวุธสงครามหลายกระบอก และยิงแบบไม่กลัวเปลืองกระสุน สะท้อนภาพการแสดงศักยภาพ ประกาศศักดาอย่างชัดแจ้ง
ส่วนการเลือกก่อเหตุในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีน้ำหนักไม่น้อย และเชื่อว่าเป็นความจงใจ เพราะกระแสการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำศาสนา ปัญญาชน และภาคประชาสังคม จากเนื้อหาในมาตรา 31 และ 67 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา ดูจะเน้นหนักให้ความสำคัญเฉพาะกับศาสนาพุทธเท่านั้น
การก่อเหตุป่วนในจังหวะเวลานี้ จึงเป็นการหวังผลทางการเมืองด้วยอีกด้านหนึ่ง
แต่มีอีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้พูดถึง และฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยเลี่ยงที่จะเอ่ย นั่นก็คือการตอบโต้เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมปริศนา 2 ศพที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งคนในพื้นที่เชื่อว่าไม่มีการยิงต่อสู้ แต่เป็นการ "ยิงทิ้ง" จึงไม่ใช่ "วิสามัญฆาตกรรม"
สองคนที่เสียชีวิต เจ้าหน้าที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านศรีภิญโญ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายวัย 8 ขวบ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีหลักฐานหรือรายละเอียดใดๆ มายืนยัน และแม้ 1 ใน 2 คน คือ นายอาเซ็ง อูเซ็ง จะมีหมายจับในคดีความมั่นคง 5 หมาย แต่อีกคน คือ นายอิสมาแอ หามะ ไม่มีหมายจับ หนำซ้ำน้องสาวของเขาวัยเพียง 15 ปียังนั่งอยู่ในรถด้วย แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ และออกมาเล่าเรื่องราวผ่านสื่อท้องถิ่นยืนยันว่าพี่ชายไม่มีปืน และไม่ได้ยิงต่อสู้ ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ออกมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ
เหตุวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงกว้างขวางในพื้นที่ แต่ฝ่ายรัฐกลับนิ่งสนิท และไม่มีทีท่าว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเหตุการณ์
หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยให้น้ำหนักเหตุป่วนลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้ากว่า 50 ต้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อคืนวันที่ 6 เม.ย. ว่าเป็นปฏิบัติการตอบโต้กรณีวิสามัญฆาตกรรมปริศนา เพราะเป็นการก่อความรุนแรงต่อเนื่องมาจากเหตุกราดยิงตำรวจหน้าโรงพักระแงะ และการโจมตีจุดตรวจที่ อ.กรงปินัง ขณะที่ประเด็นนี้มีกระแสประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจสูงมาก การก่อเหตุเพื่อตอบโต้ฝ่ายรัฐจึงน่าจะทำให้กลุ่มขบวนการได้มวลชนและแรงสนับสนุน
ส่วนการแสดงศักยภาพของผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่ ถูกให้น้ำหนักน้อยกว่า เพราะ นายดูนเลาะ แวมะนอ มีจุดยืนใช้ความรุนแรงและไม่พูดคุยเจรจาอยู่แล้ว การเลือกก่อเหตุช่วงเวลาไหน จึงขึ้นกับโอกาส ความพร้อม และเงื่อนไขสถานการณ์เป็นสำคัญ
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลการข่าวจากฝั่งทหาร ระบุว่ากลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงในระยะหลัง อาจเป็นกองกำลังรุ่นใหม่ที่เพิ่งผ่านการฝึกจากต่างประเทศ จึงทดลองปฏิบัติการเพื่อทดสอบความพร้อม แต่ข้อมูลนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
แต่ที่แน่ๆ ประการหนึ่งก็คือ เหตุรุนแรงที่กระจายไปเกือบ 20 อำเภอ มีบางอำเภออยู่ในแผนที่จะกำหนดเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" จากการตกลงกันของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของกระบวนการพูดคุยฯ และการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยซึ่งหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง
----------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากไลน์กรุ๊ป "วาระผู้หญิงชายแดนใต้"
อ่านประกอบ :
สรุปบึ้มเสาไฟฟ้าเกือบ 20 อำเภอ เผาสายส่งแรงสูงทำปัตตานีดับทั้งเมือง
2 ชีวิตที่สูญไป เด็กหญิงที่รอดตาย...กับวิสามัญฯปริศนาที่รือเสาะ
ฝ่ายมั่นคงอ้าง BRN ตั้ง "ดูนเลาะ" ผู้นำใหม่ - เผยมาเลย์ปรามลดก่อเหตุ "เซฟตี้โซน"