นักวิชาการเผยคนไทยเสี่ยงโรคร้ายจากควันบุหรี่มือสอง 12ล้านคน
นักวิชาการเผย ผลสำรวจพบ ครอบครัวไทยมีคนสูบบุหรี่ 4 ล้านครัวเรือน สมาชิกในบ้านเสี่ยงเป็นโรคร้ายจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 12 ล้านคน
สืบเนื่องจากราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามขายหรือให้ผลิตภันณฑ์คนอายุต่ำว่า 20 ปี รวมไปถึงการขายแบบแบ่งซอง และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ( อ่านประกอบ ประกาศแล้ว! กม.ควบคุมยาสูบ ห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน ฝ่าฝืนมีโทษ )
ด้านดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า สถาบันครอบครัวเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ภายในครอบครัว ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ควรจะเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวด้วยเช่นกัน ซึ่งสองปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ตัดสินใจเลิกบุหรี่คือ คนในครอบครัวขอร้อง และการมีปัญหาสุขภาพ เพราะฉะนั้นความร่วมมือในระดับครอบครัวมีส่วนสำคัญมากต่อการเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด โดยการให้สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้กระตุ้นหรือให้คำแนะนำ จะมีผลทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้ตระหนักว่า การสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว และเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกริเริ่มพฤติกรรมการสูบบุหรี่ สิ่งที่ได้ผลดีที่สุดคือ การแสดงพฤติกรรมที่ตรงกับสิ่งที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีแก่ลูก
ดร.ทพญ.ศิริวรรณ เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสุบบุหรี่ในครอบครัวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร ปีพ.ศ.2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีครัวเรือนทั้งหมด 20,593,402 ครัวเรือน ซึ่งมีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ 4,049,366 ครัวเรือน ทำให้คนไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 12,633,746 คน
ด้าน ดร.จิราพร ชมสวน หัวหน้าโครงการทบทวนวรรณกรรมข้อมูลสนับสนุนการสื่อสารสาธารณะเพื่อการรณรงค์ลดการบริโภคยาสูบ ปีพ.ศ.2560 กล่าวว่า จากผลการศึกษา การได้รับควันบุหรี่มือสองส่งผลกระทบต่อคนใกล้ชิดในครอบครัวไม่น้อยไปกว่าคนที่สูบบุหรี่ ซึ่งควันบุหรี่ทำให้คนใกล้ชิดมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูอักเสบ โดยคนในครอบครัวของคนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนในครอบครัวของคนที่ไม่สูบบุหรี่เป็น 2 เท่า และมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปี รวมทั้งควันบุหรี่ยังส่งผลต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสแท้ง ตกเลือดในระหว่างคลอดและหลังคลอดมากเป็น 2 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ และลูกที่คลอดอาจมีน้ำหนักและความยาวตัวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางด้านสมองช้ากว่าเด็กปกติ อาจมีความผิดปกติทางด้านระบบประสาทและระบบความจำ
“การที่มีคนสูบบุหรี่ในครอบครัว จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่สมาชิกในครอบครัว โดยถ้าในครอบครัวมีสมาชิกที่สูบบุหรี่ วัยรุ่นในครอบครัวนั้นมีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้สูบบุหรี่ในอนาคต” ดร.จิราพร กล่าวและว่า ดังนั้นครอบครัวมีอิทธิพลอย่างยิ่ง ครอบครัวที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย จะทําให้ลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์ เกิดความไว้วางใจ ลูกจะเรียนรู้จากพ่อแม่ในการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสม
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.maerakluke.com