โครงการเรือดำน้ำ (จีน) การแข่งขันที่โปร่งใสยุติธรรมจริงหรือ?
“แต่ถ้าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการต่อเนื่องแล้ว ก็ต้องถามว่าทำไมไม่ทำการคัดเลือกใหม่? ทำไมถึงกำหนดเลยว่าเลือก S26T โดยไม่มีคู่แข่งอีกทั้งกำหนดราคากลางที่จะจัดซื้อได้เฉพาะ S26T เท่านั้น S26T จำนวน 1 ลำ นั้น เหมาะสมต่อการใช้งาน ตรงกับความต้องของกองทัพเรือโดยไม่มีเรือดำน้ำแบบอื่นที่เหมาะสมกว่าจริงหรือ?”
ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เปิดเผยถึงการเข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือแบบ S26T จำนวน 3 ลำ จากบริษัท CSOC สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามด้วยการที่ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ต่างทยอยออกมาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาเหมือนนัดกันไว้ว่ารัฐบาล คสช. ยินดีให้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบ ส่งผลให้สถานะของโครงการในปัจจุบันคือการรอการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
ตรวจสอบความโปร่งใส หรือ ตรายางชั้นดี?
หากฟังดูเผินๆ แล้ว เมื่อโครงการเรือดำน้ำสามารถผ่านการพิจารณาของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ก็เหมือนเป็นเครื่องยืนยันความคุ้มค่าของเรือดำน้ำจีน แต่ในความเป็นจริงแล้วสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินคงไม่สามารถบอกได้ว่าเรือดำน้ำดังกล่าวมีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลโครงการได้เนื่องจากมีรายละเอียดทางเทคนิคที่มีความเฉพาะจำนวนมาก ดังนั้นประเด็นการพิจารณาของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็คงสามารถทำได้อย่างจำกัดในแง่ของระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น ซึ่งในยุคปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันว่าการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะจากหน่วยงานของรัฐนั้น สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
ตามที่รู้กันว่าโครงการเรือดำน้ำครั้งหลังสุดนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 ในครั้งนั้นมีผู้เข้าแข่งขัน 6 ราย จากเกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และจีน โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือเรือดำน้ำ S26T จำนวน 3 ลำ จากบริษัท CSOC สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 กองทัพเรือได้ออกราคากลางสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T จำนวน 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท และล่าสุดกำลังรอการเสนอเพื่ออนุมัติจาก ครม.
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมในครั้งแรกเรือดำน้ำ S26T จำนวน 3 ลำ จากบริษัท CSOC สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้รับการคัดเลือก?
ทั้งนี้ หากดูเอกสารเชิญชวนที่กองทัพเรือส่งไปยังบริษัทต่างๆ หรือที่เรียกว่า Request for Offer แล้ว จะเห็นว่า กองทัพเรือได้ระบุความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการจัดหาเพียง 2 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท (2 ลำ “เท่านั้น” ไม่ใช่อย่างน้อย 2 ลำ) ซึ่งทุกบริษัทที่เข้าแข่งขันต่างก็ยื่นข้อเสนอเป็นเรือดำน้ำ 2 ลำ พร้อมกับอาวุธ อะไหล่ การซ่อมบำรุง และสิ่งอำนวยความสะดวก ภายใต้วงเงิน 36,000 ล้านบาท ทั้งสิ้น ยกเว้นแต่เพียง CSOC จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เสนอจำนวน 3 ลำ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การเสนอเช่นนี้นั้นจะขัดแย้งกับความต้องการในเอกสารเชิญชวนของกองทัพเรือหรือไม่? ซึ่งหากว่าขัดกันแล้วก็ย่อมจะผิดระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง
เสนอจำนวนมากกว่าในราคาเดียวกัน?
หนึ่งในเหตุผลที่กองทัพเรือชี้แจงต่อสาธารณชนที่เลือกเรือดำน้ำ S26T จากประเทศจีนคือ CSOC เสนอเรือดำน้ำให้ 3 ลำ ในขณะที่บริษัทอื่นเสนอแค่ 2 ลำ ผ่านสมุดปกเขียวจำนวนเพียง 9 หน้า (อ่าน “แฉปม 'ฮั้ว' ?...ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T” https://www.isranews.org/isranews-article/48703-s26t.html) โดยมีการให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า 3 ลำ นั้นเป็นไปตามความต้องการตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรืออยู่แล้ว เหตุผลที่กองทัพเรือไม่กำหนดความต้องการในเอกสารเชิญชวนให้เป็น 3 ลำตั้งแต่แรก เพราะกองทัพเรือคาดว่าจะมีงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดหา แต่เมื่อมีผู้เสนอมา 3 ลำ จึงตรงความต้องการพอดี
การแข่งขันที่โปร่งใสยุติธรรม?
ถึงแม้กองทัพเรือจะบอกว่าจำนวน 3 ลำนั้นเป็นไปตามความต้องการที่กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ของกองทัพเรืออยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าการพิจารณาคัดเลือกนั้น ต้องอยู่ภายใต้กรอบของระเบียบสำนักนายกฯ ที่กำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการในเอกสารเชิญชวนของทางราชการ ไม่ใช่ตรงกับความต้องการที่กำหนดในยุทธศาสตร์ของกองทัพ ผู้ที่เสนอไม่ตรงกับความต้องการก็จะต้องถูกตัดสิทธิ์ไปโดยปริยาย ซึ่งในกรณีที่กองทัพเรือเห็นว่าจำนวน 2 ลำ ตามที่ออกหนังสือเชิญชวนไปนั้นไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง ก็จะต้องยกเลิกหนังสือฉบับนั้น แล้วออกหนังสือเชิญชวนใหม่ให้ตรงกับความต้องการ
ดังนั้นในกรณีที่ผู้เสนอราคาเสนอเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ทำให้เกิดข้อสงสัย 2 ประการ คือ
- การที่เสนอ 3 ลำนั้นไม่ตรงกับความต้องการตามเอกสารเชิญชวนนั้นขัดกับระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุหรือไม่?
- การพิจารณาของกรรมการคัดเลือกมีกระบวนการอย่างไร เพราะดูแล้วจะไม่ใช่การพิจารณาเปรียบเทียบรายละเอียดคุณลักษณะข้อเสนอของระบบย่อยต่างๆ ที่ทุกบริษัทเสนอสินค้าที่ผ่านข้อกำหนดตามเอกสารเชิญชวนในจำนวนเรือที่เท่าๆกัน ลักษณะนี้จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่? อย่างนี้จะมีความเป็นธรรมและยุติธรรมกับผู้เสนอราคารายอื่นๆหรือไม่?
เสนอ 3 ลำ หรือเลี่ยงบาลี 2 แถม 1?
ในวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะที่ว่า CSOC เสนอเรือดำน้ำ 2 ลำ แถม 1 ลำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเลี่ยงบาลีของข้อเสนอแรกที่ชี้แจงว่า 3 ลำ ทั้งนี้จากการตรวจสอบแล้วพบว่า ในการเสนอราคาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 CSOC ได้ระบุในเอกสารเสนอราคาอย่างชัดเจนว่า เสนอ S26T ให้ 3 ลำ ดังนั้น วาทะกรรม 2 แถม 1 จึงน่าเป็นเพียงคำพูดที่คิดขึ้นในภายหลังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขัดแย้งกับเอกสารเชิญชวนที่ออกมาตั้งแต่แรกเท่านั้น
ของแถม ซื้อ 2 แถม 1 แบบนี้ก็ได้หรือ?
เนื่องจากโครงการเรือดำน้ำได้กำหนดให้ผู้เสนอราคาเสนอเรือดำน้ำ 2 ลำ พร้อมกับอาวุธ อะไหล่ การซ่อมบำรุง และสิ่งอำนวยความสะดวก ภายใต้วงเงิน 36,000 ล้านบาท โดยการพิจารณาจะพิจารณาจากผู้ที่มีข้อเสนอที่ให้ประโยชน์กับกองทัพเรือได้สูงสุด ประเด็นคือ การเสนอ 3 ลำ แต่เลี่ยงบาลีบอกว่า 2 แถม 1 นั้น เป็นข้อเสนอที่ให้ประโยชน์สูงสุด ตรงตามความต้องการที่กำหนดไว้ในเอกสารจริงหรือ? หากวิเคราะห์แล้วจะพบว่า การที่กำหนดให้เสนอเรือดำน้ำ 2 ลำ พร้อมกับอาวุธ อะไหล่ การซ่อมบำรุง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ น่าจะเป็นเพราะต้องให้สามารถใช้งานและซ่อมบำรุงเรือดำน้ำทั้งสองลำนี้ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ใช่ต้องการของแถม อย่าลืมว่าการที่ได้ของแถมเพิ่ม 1 ลำนั้น จะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในระยะยาวตามมาอีกมาก ซึ่งไม่ทราบว่ากองทัพเรือตระหนักถึงเรื่องนี้หรือไม่? สมมุติว่า เราต้องการซื้อคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง พร้อมบอกให้คนขายแถม accessories มาให้มากที่สุด ในราคา 36,000 บาท แต่มีผู้เสนอราคาเจ้าหนึ่งบอกว่า ให้คอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง แต่ให้เรียกว่า 2 แถม 1 แล้วให้นับ 1 นั้น เป็น accessories อย่างนี้จะผิดวัตถุประสงค์หรือไม่? เราอาจได้ประโยชน์ก็จริง แต่เราต้องการ accessories ไม่ได้ต้องการคอมพิวเตอร์อีกเครื่องมิใช่หรือ?
ซื้อทีละลำ?
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2559 กองทัพเรือได้ออกมาชี้แจงว่า ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเลยไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำได้ 3 ลำ ต้องทำการจัดหาเรือดำน้ำทีละ 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนทำให้กลายเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ไม่ใช่ 2 ลำ อย่างที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนเดิมเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 และการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ก็กำหนดเลยว่าจะซื้อเรือดำน้ำ S26T จำนวน 1 ลำ โดยไม่มีการคัดเลือกใหม่
ตรงนี้มีข้อสังเกตคือ การจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จำนวน 1 ลำนี้ นั้นเป็นผลพวงมาจากการคัดเลือกเดิมในปี 2558 หรือไม่? ถ้าเป็นโครงการต่อเนื่องแล้ว อาจจะเป็นไปได้ว่า การจัดซื้อครั้งนี้ก็น่าจะขัดแย้งกับเอกสารเชิญชวนที่ออกไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 เพราะรวมแล้วจะกลายเป็นจัดหาเรือดำน้ำทีละ 1 ลำ 3 ครั้ง จะทำให้กลายเป็นจัดหาทั้งสิ้น 3 ลำ ไม่ใช่ 2 ลำ แต่หากบอกว่าเป็น 2 แถม 1 ราคาต่อลำก็ควรจะอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท หรือว่า CSOC จะทั้งลดราคาและแถมเรือดำน้ำให้อีก 1 ลำด้วย?
แต่ถ้าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการต่อเนื่องแล้ว ก็ต้องถามว่าทำไมไม่ทำการคัดเลือกใหม่? ทำไมถึงกำหนดเลยว่าเลือก S26T โดยไม่มีคู่แข่งอีกทั้งกำหนดราคากลางที่จะจัดซื้อได้เฉพาะ S26T เท่านั้น S26T จำนวน 1 ลำนั้น เหมาะสมต่อการใช้งาน ตรงกับความต้องของกองทัพเรือโดยไม่มีเรือดำน้ำแบบอื่นที่เหมาะสมกว่าจริงหรือ?
สรุป
จากที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ของโครงการเรือดำน้ำครั้งนี้ ยังไม่เคยมีการชี้แจงถึงความคลุมเครือ และความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นเลย ทำให้สงสัยว่าโครงการนี้มีการเปิดให้ทำการแข่งขันอย่างโปร่งใสยุติธรรม ไม่มีการล็อคสเปกหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดจริงหรือไม่ หรือทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ต้น?
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรือดำน้ำจาก http://thainews.prd.go.th