"สง่า ดามาพงศ์" ชี้ 80% ที่แชร์บนโลกออนไลน์เป็นข่าวปลอม
อสมท จับมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ 24 องค์กรพันธมิตร ลงนามทำข้อตกลง สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคม ชัวร์ก่อนแชร์ ร่วมเป็นเครือข่าย First Draft Partner Network
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. สำนักข่าวไทย อสมท ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และหน่วยงานองค์กรพันธมิตร เปิดศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยมีนายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการ อสมท และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมในงานพิธีเปิด
นายเขมทัตต์ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปในสมัยก่อนเราจะเห็น และได้ยินคำว่า ข่าวลือ ซึ่งข่าวลือนั้นมักจะเป็นข่าวมั่วหรือข่าวจริงก็ไม่ทราบ ก็ต้องอาศัยการตรวจสอบจากสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือดูจากข่าวโทรทัศน์ แต่บริบทของสังคมเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นมา เรื่องของโซเชียลมีเดียกลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มใช้มากขึ้น ทุกคนสามารถแชร์ข้อมูลข่าวสารได้ ส่งข้อมูลข่าวสารได้ เรื่องอย่างนี้ถ้าหากว่าเป็นเรื่องที่ดี ในอนาคตก็สามารถที่จะให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ แต่ในหลายๆครั้ง ข้อมูลข่าวสารนั้นเริ่มจะไม่เป็นความจริง อาจจะมีการแปลงสภาพเนื้อหาบางอย่างที่ทำให้ คนหมู่มากเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจิตใจ ครอบครัวหรืออื่นๆ
"อสมท เล็งเห็นปัญหาที่เริ่มก่อตัวขึ้น จึงได้ผลิตเนื้อหาชัวร์ก่อนแชร์ ตั้งแต่ปี 2558 และปีนี้ อสมท ได้จัดตั้งศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ขึ้นอย่างเป็นทางการ และยังได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของเครือข่าย First Draft Partner Network ซึ่งก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อสารมวลชนและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก 72 ราย อาทิ CNN,BBC,Goolgle,Facebook เป็นต้น"
ด้านนายวสันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันการสื่อสารทางโลกสังคมออนไลน์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งก็มีข่าวลวงข่าวเท็จเกิดขึ้นมากมาย โดยเราไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่า อันไหนเรื่องจริง ในหนึ่งวันคนเราจะได้รับข้อมูลข่าวสารเยอะมาก แต่การที่จะมีองค์กรที่มาช่วยตรวจสอบว่า ข้อมูลข่าวสารที่เราเสพนั้นเป็นความจริง ถูกต้อง หรือสมควรที่จะส่งต่อก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
"ที่ผ่านมาทาง อสมท มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่องและมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเป็นผู้ออกมาให้ข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี"
ส่วนนายสง่า ดามาพงศ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข่าวที่ออกมา 100 ข่าว มี 80 ข่าวที่มั่ว เช่น วันจันทร์กินน้ำแตงโม วันอังคารดินแซนวิช วันพุธกินน้ำสับปะรดและไม่ต้องกินข้าว ทำภายใน 2 อาทิตย์ลดนำหนักได้ 7 กิโลกรัม คนฟังเอาไปทำแล้วลดจริง 7-8 กิโลกรัม แต่หากทำไปเรื่อยๆ อาจจะเสียชีวิตได้ หากจะกลับมากินอาหารดั่งเดิมก็อาจเกิดอาการโยโย่เอฟเฟค กลับมา ดังนั้นจึงเกิดความเสียหายอันมหาศาลต่อสุขภาพ
"ถ้าหากจะบอกให้คนดูข่าวที่มาจากโซเชียลมีเดีย และก่อนจะแชร์ต่อนั้น สิ่งแรกที่เราควรทำคือ ติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ชมและผู้ดูว่า เขาจะต้องตรองอย่างไร โดยดูจากแหล่งข่าว ใครคือคนให้ข่าว น่าเชื่อถือได้หรือไม่ และข่าวนั้นมาจากที่ไหน สถาบันใดเป็นคนให้ และข่าวนั้นเกินความเป็นจริงหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ประชาชนควรตระหนัก"
สำหรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จหรือมั่วนั้น ที่นิยมแชร์กันทั่วไปบนโลกออนไลน์ โดยส่วนใหญ่จะพบเป็นเรื่องของปัญหาสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือการให้ความช่วยเหลือของประชาชนแก่ผู้ด้อยโอกาสที่ไม่เป็นความจริง หรือเรื่องของการยกเลิกสิทธิต่างๆของประชาชนที่รัฐมอบให้ รวมถึงมาตรการ กฎหมายข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการลงนามภาคีเครือข่าย และบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU โดยมี 24 องค์กรร่วมลงนาม ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายยุวทัศน์ ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย ธนาคารกรุงไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันโภชนา มหาวิทยาลัยมหิดล สภาทนายความ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ