Work-Life Balance สไตล์ CEOs
ปธ.สภาอุตฯ แนะบริษัทมีเนอร์สเซอรี่และที่เก็บนมแม่ไว้ให้พนักงานที่มีครอบครัว บอย-โกสิยพงษ์ ฝากข้อคิด"เวลาเราตาย งานไม่มานั่งเฝ้าเรา คนเฝ้ายามเจ็บป่วยคือลูก " ด้านผู้ประกาศข่าวชื่อดังเชื่องานสำคัญเท่ากับครอบครัว แนะแบ่งเวลาให้ถูก
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เวทีเสวนาเรื่อง Work-Life Balance สไตล์ CEOs ณ ห้อง ViE Function ชั้น 12 โรงแรม วี โฮเทล กรุงเทพ
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า การแบ่งเวลาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ถ้าแบ่งเวลาไม่เป็นจะทำให้ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย แนะนำว่าพอหมดเวลาทำงานก็ต้องเคลียร์สมองออกไป จะได้มีเวลาให้กับครอบครัวได้เต็มที่ ไม่ใช่ตอนอยู่กับครอบครัวจะต้องมากังวลเรื่องงานแบบนี้ไม่ดี เพราะจะทำให้คุณภาพในการอยู่กับครอบครัวแย่ลงไปด้วย
นายเจน แสดงความเห็นถึงการปัจจุบันการทำงานก็เปลี่ยนไปเยอะ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องมองว่างานต่อไปนี้จะใช้สมองมากกว่าใช้แรงงาน เดี๋ยวนี้คนทำงานข้างนอกออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ เปิดโอกาสให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นการที่ที่ทำงานหรือโรงงานให้มีเนอร์สเซอรี่ไว้ในบริษัท เพื่อช่วยดูแลเด็ก หรือบางบริษัทมีที่เก็บน้ำนมแม่ในตอนที่แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ หากช่วยกันส่งเสริมได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก และควรมีวันลาที่เป็นมาตรฐานทั้งพ่อและแม่เพื่อให้มีเวลาดูแลลูกจึงจะสามารถกระตุ้นให้คนไทยอยากมีลูกได้
ด้านดร.เดือนเด่น นิคมริรักษ์ ผอ.วิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เล่าวถึงการเลี้ยงลูกแน่นอนว่า ผู้หญิงต้องเป็นเสาหลักในการเลี้ยง แต่โชคดีที่ครอบครัวมีคุณย่าที่ช่วยในการเลี้ยงลูก ทำให้ช่วยลดภาระได้มาก แต่ก็มีข้อเสียตรงที่คุณย่าเลี้ยงหลานให้รักสบายเกินไปจนไม่มีระเบียบวินัย พอลูกเริ่มโตก็พยายามจัดระเบียบ พามาที่ทำงานค่อยสอนว่า ระเบียบวินัยต้องเป็นอย่างไร แต่หากสอนโดยใช้แต่คำพูดจะเป็นการเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เด็กจะไม่สนใจ เพราะฉะนั้นเราเองจะต้องแสดงเป็นตัวให้ลูกเห็นว่า เราดูแลกับพ่อแม่อย่างไร เขาก็จะทำกับเราอย่างนั้น
"ตัวอย่างเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยต้องสอนในเรื่องของวินัย ส่วนตัวไม่เคยตีลูก เพราะคิดว่าที่ลูกทำผิดเขาแค่ต้องการรู้เหตุผลว่า ทำไมถึงผิดเท่านั้น ความสมดุลในครอบครัวคือจะไม่รับงานวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเป็นเวลาที่ต้องให้กับครอบครัว ถ้าให้เลือกงานกับครอบครัวต้องเลือกครอบครัวก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าทิ้งงาน แต่ก็ไม่ได้ทุ่มให้งาน 100% การทำงานในวันธรรมดาก็จะทำงานเต็มที่"
ทั้งนี้ ดร.เดือนเด่น เห็นว่า การนั่งสมาธิเป็นตัวช่วยที่ดีทำให้เรามีสติในทุกขณะที่ และยังช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ งานมีเท่าเดิมแต่สามารถทำเสร็จเร็วกว่าเดิมได้
"ภาครัฐตอนนี้ที่ส่งเสริมให้คนไทยมีลูก ส่วนตัวคิดว่านโยบายของรัฐยังไม่ได้ส่งเสริมให้มีลูกมากพอ เพราะประสบกับตัวเองตอนที่มีลูกในส่วนเรื่องของประกันสังคม ได้เงินประกันสังคมเดือนละ 150 บาท เงินตรงนี้ที่ได้มายังไม่พอค่านมเลย ดังนั้นเรื่องนี้ต้องคิดกันนานๆ ว่า ควรจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการลดหย่อนภาษีให้มากขึ้น เพื่อเอื้อต่อการให้คนอยากมีลูก หากประเทศไม่ช่วยภาระทั้งหมดจะตกอยู่ที่องค์กร"
ขณะที่นายชีวิน โกสิยพงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เลิฟ อิส จำกัด ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัว โดยเขาคิดว่าการปลูกสิ่งใดก็จะได้เก็บเกี่ยวสิ่งนั้น และจะมองต้น-ท้ายก่อนว่า อยากจะเก็บเกี่ยวอะไร "ตั้งแต่แต่งงาน ตัวเอง และภรรยาก็ตั้งใจกันว่าจะเก็บเกี่ยวความสุขและความรัก ดังนั้นเราต้องลงทุนกับครอบครัวให้มากที่สุดให้ความรักและให้เวลา ส่วนเรื่องงานก็ต้องให้เวลาเช่นกัน"
ในฐานะผู้บริหารการทำงานในบริษัทเลิฟอิส บอย-โกสิยพงษ์ บอกว่า เวลาพนักงานมีครอบครัวก็จะให้พนักงานเลือกครอบครัวก่อน เพราะถ้าครอบครัวพนักงานพัง งานของบริษัทก็พังไปด้วย กลับมาที่เรื่องลูก ช่วงเวลาที่ลูกต้องการพ่อแม่ก็เริ่มตั้งแต่ 0-6 ปีเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะเลือกว่า อยากเป็นอะไรในอนาคต จึงต้องให้เวลาเป็นพิเศษหลังจาก 6-12 ปี ก็จะให้เวลาในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ในช่วง 17-18 ปี เขาก็ไม่ต้องการพ่อแม่หลังจากนั้นค่อยกลับมาทุ่มเทเรื่องงาน
"อยากให้คิดว่า เวลาเราตาย งานคงไม่มานั่งเฝ้าเรา ดูแลตอนเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ลูกน่าจะเป็นคนที่ดูแลตอนเราเจ็บไข้ การที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ความรู้เราก็จะเท่าๆกับลูก อยากให้มองลูกให้เป็นครู ให้มองว่า เรากำลังเลี้ยงลูกเพื่อเรียนรู้ว่าต้องเลี้ยงอย่างไร"
สุดท้ายนายณัฐรีร์ โกศลพิศิษฐ์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าว ผู้บริหาร บริษัท คลักฟอร์ เคลฟเวอร์ จำกัด เล่าถึงชีวิตงานกับชีวิตครอบครัวนั้นสำคัญเท่ากัน เพราะหากไม่มีงานก็จะไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้เป็นไปตามสิ่งที่ตั้งใจได้ ทั้งคุณภาพด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ส่วนตัวทุกวันนี้หากมีเวลาว่างจะหาเวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด เนื่องด้วยอาชีพที่ทำอยู่เวลาค่อนข้างน้อยการที่มีเวลาก็จะใช้เวลาให้คุ้มค่า โดยการคิดกิจกรรมชวนลูกมาเล่นเพื่อส่งเสริมทักษะ ส่วนวิธีการทำงานให้ไปกับครอบครัวได้คือเมื่อไหร่พนักงานในบริษัทมีครอบครัวจะอนุญาตให้เอาครอบครัวไปกินข้าวหรืองานสัมมนาด้วยกันได้ เพราะต้องการกระชับความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตในครอบครัว การที่เป็นผู้บริหารและการที่เรามีครอบครัวก็ยิ่งต้องเข้าใจพนักงาน ต้องมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันให้มาก แต่ขอให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพให้เต็มที่ก็พอ