Land Watch ตั้งข้อสังเกต ไม่มี ‘อัตราก้าวหน้า’ ในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน
สนช.มีมติรับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ด้าน กลุ่ม Land Watch ตั้งข้อสังเกต แนวคิดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในร่างฯ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มิหนำซ้ำคนจนยังต้องแบกรับภาระเพิ่ม
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่31 มีนาคม พ.ศ. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ไว้พิจารณา โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 26 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 21 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน
ด้านนายสุร แก้วเกาะสะบ้า กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranes.org) ถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านการลงมติรับหลักการในวาระ 1 ของสนช. พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็น หากเทียบกับร่างเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอเมื่อช่วงปี 2559 อย่างหลักการที่บอกว่าจะเก็บภาษีที่อยู่อาศัยจากคนที่มีบ้านหลัง 50 ล้านขึ้นไป หรือการไม่เก็บคนที่มีบ้านหลังแรก แต่จะเก็บหลังที่สอง ซึ่งหายไปในร่างพ.ร.บ.ที่สนช.รับหลักการ การหายไปเหล่านี้หมายความว่า ทุกคนต้องเสียภาษีหมด ซึ่งไม่ยุติธรรมกับกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่บ้านเพื่อปัจจัยในอยู่อาศัย กลายเป็นความไม่พอดี แม้ว่าที่ผ่านมาประเด็นนี้จะโดนวิพากษ์มาก ซึ่งทางเราคิดว่าถ้ารัฐจะเก็บ ก็สามารถเริ่มเก็บได้จากคนที่มีบ้านหลังละ 5 ล้าน ซึ่งน่าจะมีรายได้มากพอที่จะเสียภาษี แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นว่า ไม่มีความสมดุลตรงกลาง ทุกคนเสียหมด
นายสุร กล่าวว่า ข้อสังเกตในอัตราการจัดเก็บภาษี ที่ได้ระบุไว้ในมาตรา 34 ของ ร่างพ.ร.บ. ที่ระบุว่า ให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตราดังต่อไปนี้
1) ที่ดินเพื่อการเกษตร อัตราไม่เกินร้อยละ 0.2 ของฐานภาษี
2) ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย อัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี
3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นๆนอกจากการเกษตรและที่อยู่อาศัย ร้อยละ 2
4) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตราไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี โดยในกรณีของที่ดินรกร้างว่างเปล่า ยังได้มีการระบุไว้ใน มาตรา 39 อีกด้วยว่า ในกรณีที่ต้องเสียภาษีที่ดินและยังปล่อยให้ที่ดินรกร้างเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ให้เพิ่ม อัตราภาษีเป็นร้อยละ 2.5 และให้เพิ่มปีละ 0.3 จนกว่าจะถึงร้อยละ 5 ต่อปี
นายสุร กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ภาคประชาชนพยายามเรียกร้องในเรื่องภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า คือจะไม่ให้ภาษีที่ดินกระทบกับทุกคน เช่นเกษตรกรที่ใช้ที่ดินจริงๆ อย่างมีที่ดินต่ำกว่า 50ไร่ เราจะไม่เก็บภาษี แล้วค่อยๆ เก็บจากคนที่มีมากกว่านั้น ตามขั้นไปเรื่อยๆ สูงสุดที่ร้อยละ 2 ในรายที่มีที่ดิน 1000 ไร่ขึ้นไป ที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ใดๆ
“คนที่มีที่ดินเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ คนที่มีน้อยก็ไม่ควรจ่ายเลย สาเหตุที่เราเสนอแบบนี้ เพราะคนที่มีที่ดินเยอะๆ มีโอกาสที่จะสะสมความมั่งคั่งได้เยอะกว่า หากรัฐปล่อยให้มีการสะสมโดยไม่มีมาตรการทางภาษีที่จะจัดการให้เกิดการกระจายตัว แน่นอนว่าภาษีที่ดินจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างแน่นอน” นายสุร กล่าว และว่า ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่ได้ให้นิยามของที่ดินรกร้างว่างเปล่าเอาไว้ ในขณะเดียวกัน ก็เก็บภาษีที่ดินประเภท เกษตรกรรมไว้ต่ำที่สุด คือ ร้อยละ 0.2 เท่านั้น ดังนั้นหากเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่า นำต้นกล้วย หรือมะพร้าวไปปลูกในที่ดินของตนโดยไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะดูแล จะทำให้ที่ดินผืนนั้น เป็นที่ดินการเกษตรหรือไม่
นายสุร กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น เจ้าของที่ดิน ก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยที่ดินออกมา เนื่องจาก ราคาที่ดินนั้นเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี
จากการสำรวจราคาที่ดินในปี 2559 พบว่าราคาเพิ่มขึ้น 3% ผู้ที่ถือครองหากจะเสียในอัตราพื้นที่เกษตรที่ 0.2% ก็มองว่ายังไงก็ยังคุ้มที่จะเสียอยู่ ในขณะเดียวกัน การเก็บภาษีเช่นนี้เท่ากับว่า ทุกคนในประเทศไทย จะต้องเป็นคนจ่ายภาษี นั่นเท่ากับว่า เกษตรกรที่มีที่ดินเพียง 10 ไร่ มีรายได้ หลักหมื่นบาท ก็จะต้องเสียภาษี ร้อยละ 2 ต่อปี เช่นเดียวกับคนที่มีสวนปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ ขณะที่คนที่มีบ้านทาวน์เฮาส์ 1 หลัง ในกรุงเทพ ก็ต้องจ่ายภาษี ร้อยละ 0.5 ต่อ เท่ากับคนที่มีบ้านหลังใหญ่ๆ เช่นกัน
นายสุร กล่าวด้วยว่า เดิมทีภาคประชาชนพยายามเสนอเรื่องอัตราภาษีก้าวหน้า เราพยายามมองปัญหาในรอบด้าน ส่วนหนึ่งของรายได้ที่เก็บจากภาษีเหล่านี้ เอาเข้าธนาคารที่ดินซึ่งแนวคิดธนาคารที่ดิน คือการเอามาจัดการคนที่อาศัยพื้นที่ของรัฐให้สามารถเช่าได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ขาย ร่างกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นว่าเงินที่ได้มาจะเข้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งไม่ตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะไม่ได้เอาเงินให้กับองค์กรที่บริหารเรื่องความเหลื่อมล้ำไปจัดการ หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ คนที่เดือดร้อนก็จะเป็นคนที่มีรายได้น้อย
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากhttp://www.prapaisee.com/