ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้ “นโยบายไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์อาเซียน” เพ้อฝัน!
“เดชา ศิริภัทร” ชี้รัฐประกาศเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ 7 ปีแล้วแต่ไม่ขยับ อย่าหวังเป็นผู้นำอาเซียน 3 ปีข้างหน้า นโยบายเกษตรล้วนเอื้อนายทุน จะยั่งยืนต้องให้ชาวนาจัดการระบบผลิตเองครบวงจร
นายเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ชาวนาไทยมีปัญหาเรื่องข้าวหลายระดับ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตสูง เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตต่ำ จนทำให้เกิดหนี้สินท่วมตัว ซึ่งเกิดจากการปรับตัวไม่ทันกับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคทุนนิยมที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศมากกว่าคุณภาพชีวิตคน นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยที่ชาวนาเองละทิ้งพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่ทนกับสภาพแวดล้อม ทั้งนี้การกลับมาสนใจเกษตรอินทรีย์ที่รักษาดินและสิ่งแวดล้อมจะเป็นทางรอดของเกษตรกรไทยได้
“การปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพจะต้องคัดสรรเมล็ดพันธุ์ที่ตรงกับสภาพภูมิอากาศและพื้นดิน ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพียงแต่หันมาจัดการดินให้อุดมสมบูรณ์ นอกจากจะได้ผลผลิตปลอดสารเคมีแล้ว ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไม่เสียด้วย”
นายเดชา กล่าวต่อว่า โรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการทำนาแก่เกษตรกร แต่ทั้งนี้ความรู้ใดๆก็ตามต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่แต่ละแห่งที่แตกต่างกัน โดยชาวนาต้องคิดและวิเคราะห์การเพาะปลูกให้ได้ด้วยตัวเองอย่างครบวงจร
ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมอินทรีย์ ยังวิพากษ์ว่าไม่ว่านโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบันและนโยบายประกันราคาของรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็คงไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมไทยได้ และไม่สามารถทำให้วิถีชีวิตชาวนาดีขึ้นมากนัก หากยังไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ได้แก่ การที่ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบกดราคาต่ำมากจากพ่อค้าคนกลาง และไม่ฝึกให้ชาวนามีความรู้และสามารถจัดการเรื่องข้าวได้อย่างครบวงจร
ผู้อำนวยการมูลนิธิขวัญข้าว ยังกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าว่า รัฐบาลเคยกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2549 แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่ได้มีการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง มีแต่การเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเกษตร เช่น โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งหลายพื้นที่ล้มเหลว เพราะไม่มีชาวนาเข้าร่วม รัฐน่าจะส่งเสริมให้ชาวนาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองมากกว่า
“หลายโครงการของรัฐบาลทุกสมัยมักเป็นนโยบายที่คิดขึ้นเอง ตั้งงบประมาณเอง ไม่สนองความต้องการของเกษตรกร แต่สนองความต้องการระบบทุน ซึ่งไม่ถูกต้อง การพัฒนาภาคเกษตรอย่างจริงจังควรให้เกษตรกรร่วมตัดสินใจ และทำให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน” นายเดชา ศิริภัทร กล่าว
.