คุยกับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เรื่องธุรกิจบริการแบบ OTT
ในต่างประเทศที่เป็นเจ้าของบริษัท OTT อย่างประเทศสหรัฐฯ ทำบริการเรื่องของ Facebook Whatsapp Google ก็จะได้ประโยชน์ เพราะรายได้จะวิ่งไปประเทศเขา ญี่ปุ่น เกาหลี มีไลน์ ก็จะได้ประโยชน์ส่วนนั้นไป ฉะนั้นการกำกับดูแล อยู่ที่ว่าเป็นประเทศเจ้าของแอพพลิเคชั่น เจ้าของเซิฟเวอร์ หรือเป็นประเทศปลายทาง ซึ่งประเทศปลายทางก็จะเจอโจทย์เดียวกันว่า จะทำอย่างไร ที่จะทำให้เงินทองไม่รั่วไหล
ธุรกิจบริการสื่อสารแพร่ภาพเสียงผ่านแอพลิเคชั่นผ่านอินเตอร์เน็ต Over the top (OTT) ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็น Line Viber Whatsapp facebook และGoogle ไม่ได้ลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน แต่มีรายได้มหาศาล และไม่ได้จ่ายภาษีให้กับประเทศไทย เมื่อมีการทำธุรกิจ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่จริงเรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ได้สร้างโครงข่ายและเปิดให้บริการ และเป็นผู้รับรายได้จากผู้บริโภค อย่างเช่น เวลาโทรออก ส่ง SMS ก็ได้เงิน หลังจากนั้นเทคโนโลยีก็พัฒนา จนเป็นแอพพลิเคชั่น ที่เรียกว่าแอพพลิเคชั่นแชท ทั้งหลาย เช่น Massager Line Whatsapp สิ่งเหล่านี้เวลาผู้บริโภคส่งข้อความไปมาหากัน ผู้ให้บริการไม่ได้เงิน ดังนั้นรายได้ของพวกค่ายมือถือต่างๆทั่วโลกก็ลดลง
“ตอนนี้ไม่ใช่มีเพียงแอพพลิเคชั่นแชทแล้ว แต่ได้พัฒนาไปถึงการ Facetime วีดิโอคอล หรือการโทรทั้งหลายที่สามารถผ่านโทร Line ผ่านไฟเบอร์ โทรผ่านอินเทอร์เน็ตโดยไม่ใช่เงิน แต่การโทรก็จะทำรายได้จะลดลงเช่นกัน”
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ในระยะหลังจะเห็นถึงความร่วมมือระหว่าง OTT เหล่านี้ยอมให้มือถือ อย่างเช่นเวลาสมัครไลน์ จะซื้อเหรียญ เล่นเกมส์ผ่านทางข่ายมือถือได้ ก็เป็นการแบ่งผลประโยชน์กัน นั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงคือ บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทของต่างชาติ และการไปซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น ต่างๆ เช่น สติกเกอร์ ไอเทมต่างๆ เงินก็ไปบริษัทใหญ่หมด ดังนั้นกลายเป็นว่า เงินไหลออกจากประเทศ ก็เลยมีความคิด ที่แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ
มิติแรกจะทำอย่างไรให้ทางข่ายมือถือ Mobile network รู้สึกว่า ไม่โดน OTT เอาเปรียบ หรือจะทำอย่างไรให้แข่งขันกันได้
มิติที่สองเป็นเรื่องรายได้ที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศ ทำอย่างไรถึงจะมีการเก็บภาษีนี้ขึ้นมา
“จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องดูจากประสบการณ์ของยุโรป หรือของสหรัฐอเมริกาประกอบไปด้วย โดยหลักการพื้นฐานง่ายๆคือ จะทำอย่างไรให้การแข่งขันในตลาดเท่าเทียมกัน รวมถึงเรื่องรายได้และการเก็บภาษี”
นพ.ประวิทย์ ยังยกให้เห็นกรณีของผู้ให้บริการที่ลงทุนโครงข่าย ยกตัวอย่าง เช่น Truevisions จะทำบริการบอกรับสมาชิก ซึ่งต้องมีการลงทุนโครงข่าย แต่บริการผ่านแอพพลิเคชั่น OTT เหล่านี้ ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเลย เหมือนกับ YouTub ผู้บริโภคก็รับสมัครออนไลน์ รับเปิดลิงค์ให้ดูหนัง ถ่ายทอดสด ดังนั้นทำให้เจ้าของโครงข่ายจริงเสียเปรียบ เพราะสิ่งแรกต้องมีการลงทุนโครงข่าย มีต้นทุน ขอใบอนุญาต และมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ถ้าทำผิดก็โดนลงโทษ มีกติกาค่าปรับเท่าไร
“หากเปรียบง่ายๆคือ Truevisions ที่มีคดีว่า หยุดผังรายการไป 6 ช่อง หรือ 11 ช่อง ยังเป็นประเด็นร้องเรียนและต้องพิจารณา แต่ถ้าเป็นหนังออนไลน์ มาโฆษณาเป็นแอนดรอยด์บ๊อก หรือเป็นหนังออนไลน์จากต่างประเทศ บอกว่ามี 20 ช่อง แต่กลับดูได้เพียงแค่ 5 ช่อง ก็ไม่ถูกลงโทษและทำอะไรทั้งสิ้น ไม่รู้จะร้องเรียนอย่างไร ดังนั้นการแข่งขันก็ไม่มีความเป็นธรรมและไม่เกิดความเท่าเทียม อีกทั้งรายได้ในส่วนนี้ก็ไม่มีใครตรวจสอบ”
กรรมการกสทช. ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในต่างประเทศที่เป็นเจ้าของบริษัท OTT อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะทำบริการเรื่องของ Facebook Whatsapp Google ก็จะได้ประโยชน์ เพราะรายได้จะวิ่งไปประเทศเขา หากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มีไลน์ ก็จะได้ประโยชน์ส่วนนั้นไป เพราะฉะนั้นการกำกับดูแล อยู่ที่ว่าเป็นประเทศเจ้าของแอพพลิเคชั่น เจ้าของเซิฟเวอร์ หรือเป็นประเทศปลายทาง ซึ่งประเทศปลายทางก็จะเจอโจทย์เดียวกันว่า จะทำอย่างไร ที่จะทำให้เงินทองไม่รั่วไหล โดยที่ไม่มีการเสียภาษี และจะทำอย่างไรที่จะทำให้การบริการถูกกำกับดูแล เวลาผู้บริโภคร้องเรียนสามารถควบคุมได้ ดังนั้นตัวอย่างจะบอกชัดเจนว่า แตกต่างกัน และใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์
“ถึงตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของประเทศในอาเซียน ซึ่งอาเซียนไม่เคยเป็นเจ้าของเซิฟเวอร์ หรือเจ้าของแอพพลิเคชั่นอะไรเลย จึงต้องมาคุยกันว่า จะคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียนและรายได้ของรัฐอย่างไร”
ทั้งนี้จะมีการจัดประชุมขึ้นเร็วๆนี้ โดยให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีการเชิญประเทศอาเซียนทั้งหลายมาหาวิธีกับไทย และ OTT ว่าจะมีวิธีกำกับดูแล และมีวิธีคำนานภาษีหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดเดือนของการประชุม
ขอบคุณภาพจาก https://www.linkedin.com