ยูเอ็นกังวลปัญหา "ซ้อมทรมาน วิสามัญฯ อุ้มหาย" ในไทย-ชายแดนใต้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC ได้จัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นสิทธิมนุษยชนส่งมายังรัฐบาลไทย โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อปัญหาการซ้อมทรมาน การปฏิบัติอันเลวร้าย การวิสามัญฆาตกรรม และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้งในหมู่ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยูเอ็นนี้ ถูกส่งกลับมายังรัฐบาล ภายหลังจากที่คณะตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เดินทางไปนำเสนอรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ต่อที่ประชุม HRC ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยรายงานดังกล่าวนับเป็นรายงานระยะที่ 2 ของรัฐบาลไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยูเอ็น มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อประเด็นที่ยังมีข้อกังวล ดังนี้
ประเด็นรัฐธรรมนูญและกฎหมาย: คณะกรรมการฯกังวลต่อบทบัญญัติบางข้อตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 เช่น มาตรา 44 มาตรา 47 และมาตรา 48 และคำสั่ง คสช.ที่ออกตามมาตรา 44 ซึ่งแก้ไขได้ยาก และอาจให้เอกสิทธิ์คุ้มครองแก่ คสช.ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงได้
คณะกรรมการฯกังวลอย่างยิ่งเรื่องการใช้มาตรา 44 จำกัดสิทธิมนุษยชนที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองไว้ ซึ่งมาตรา 279 ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังสานต่อให้เอกสิทธิ คสช.กระทำการออกประกาศหรือคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ต่อไป
ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรทบทวนทุกมาตรการที่ออกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยเฉพาะมาตรา 44, 47 และ 48 ตามพันธกรณีที่มีต่อ ICCPR และต้องสร้างหลักประกันว่าทุกมาตรการที่ออกตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งมาตรา 279 จะต้องเป็นไปตามพันธกรณีที่มีต่อ ICCPR รวมถึงพันธกรณีที่ต้องเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพแก่เหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นการวิสามัญฆาตกรรม บังคับให้สูญหาย และซ้อมทรมาน: คณะกรรมการฯกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานการซ้อมทรมาน การปฏิบัติอันเลวร้าย การวิสามัญฆาตกรรม และการบังคับบุคคลให้สูญหายในหมู่ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการฯยังคงกังวลที่ผู้ก่อเหตุอาชญากรรมเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังไม่ถูกลงโทษ และการสืบสวนคดีคืบหน้าช้ามาก นอกจากนี้คณะกรรมยังจับตาเรื่องการยิงพลเรือนในช่วงความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 การบังคับให้บุคคลสูญหาย กรณี นายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
ดังนั้นฝ่ายรัฐจึงควรสร้างหลักประกันว่า 1.มีการรายงานกรณีเหล่านั้น โดยข้อกล่าวหาและข้อร้องเรียนทุกข้อเรื่องตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตและผิดกฎหมาย จะต้องถูกสอบสวนอย่างรอบคอบทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมาน บังคับบุคคลให้สูญหาย และวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไทยจะต้องรับรองว่าผู้ก่อเหตุจะต้องถูกดำเนินคดี ถ้ากระทำความผิดจริงจะต้องถูกลงโทษอย่างเหมาะสม
2.ให้ความจริงเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ในกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จะต้องเปิดเผยชะตากรรมหรือสถานที่ของเหยื่อให้ชัดเจน และต้องรับรองว่าญาติเหยื่อได้รับข้อมูลความคืบหน้าและผลการสอบสวน
3.รับรองว่าเหยื่อได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่ จนพึงพอใจและรับรองว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำอีก
สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล และการปฏิบัติต่อบุคคลในฐานะมนุษย์ตามเสรีภาพที่ควรได้รับ: คณะกรรมการฯกังวลกับรายงานการคุมขังประชาชนหลายร้อยคนโดยพลการเพื่อปรับทัศนคติ เนื่องจากพวกเขาใช้สิทธิพื้นฐานในการรวมตัวและแสดงความคิดเห็นหลังการรัฐประหารปี 2557 มีรายงานว่า คนเหล่านั้นถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอกในสถานที่ไม่เปิดเผยนานถึง 7 วัน ไม่มีการดูแลหรือป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย แถมยังติดต่อทนายไม่ได้
ที่น่ากังวลกว่านั้นคือก่อนปล่อยตัว คนเหล่านี้ถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงว่าจะไม่เดินทางออกนอกประเทศ ห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ใดฝ่าฝืนเสี่ยงติดคุกถึง 2 ปี
และท้ายที่สุด คณะกรรมการฯกังวลเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา และไม่มีหมายจับคดีอาญาได้นานถึง 30 วัน กรณีที่ต้องขึ้นศาลพลเรือน แต่กรณีที่ต้องขึ้นศาลทหาร เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหาและไม่มีหมายจับได้นานถึง 84 วัน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการทั้งหมดทันที พร้อมชดเชยพวกเขาอย่างเต็มที่
สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและศาลทหาร: แม้ คสช. จะมีคำสั่งที่ 55/2559 เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2559 ให้ยกเลิกการขึ้นศาลทหาร ยกเว้นคดีที่เกิดขึ้นก่อนคำสั่งฉบับนี้ แต่ก็ยังทำให้คณะกรรมการฯมีความกังวล เนื่องจากมีรายงานว่ายังมีคดีพลเรือนตกค้างในศาลทหารอีกหลายร้อยคดี ซึ่งไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ การพิจารณาคดีของศาลทหารไม่เป็นไปตามมาตรา 14 ของกติกา ICCPR
รัฐบาลไทยควรรับรองว่า ทุกคดีในศาลทหารได้รับการดูแลอย่างดี และดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ได้รับการรับรองตามมาตรา 14 แห่งกติกา ICCPR
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: สภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 และข้อจำกัดที่ออกตามมาตรา 44 คณะกรรมการกังวลเรื่องการดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน และประชาชนอื่นๆ การห้ามอภิปรายและรณรงค์ และการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลในช่วงรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559
กลไกยูเอ็นขอให้ไทยเลิกเอาผิดทางอาญาโดยใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการยุยงปลุกปั่นต่อคนที่วิจารณ์รัฐบาล พร้อมกับแนะนำให้ไทยยุติการดำเนินคดีนักโทษประชามติ
การชุมนุมโดยสงบ: นับตั้งแต่ทหารทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 รัฐบาลไทยห้ามการชุมนุมโดยสงบ ทำให้คณะกรรมการฯกังวลอย่างยิ่ง อีกทั้งรัฐบาลยังออกพระราชบัญญัติชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ประชาชนที่จัดการชุมนุมหรือร่วมชุมนุมอย่างสงบถูกจับกุมหลายร้อยคน
รัฐบาลไทยจึงควรรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ หลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรา 4 ของกติกา ICCPR และรัฐบาลไม่ควรควบคุมตัวประชาชนที่ไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งชาติหรือความปลอดภัยสาธารณะ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ทีมข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ NOW26
อ่านข้อเสนอแนะฉบับเติมของ HRC ได้ใน http://tbinternet.ohchr.org/Treaties/CCPR/Shared%20Documents/THA/CCPR_C_THA_CO_2_27020_E.docx
อ่านประกอบ : ไทยแจงยูเอ็นมีแผนเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กฎอัยการศึก" ชายแดนใต้บางพื้นที่