นักวิชาการ แนะไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานปลาง 10-20 ปี เร่งลงทุนการศึกษาเด็กปฐมวัย
คาดปี 2576 เด็ก 1 คนต้องรับภาระผู้สูงวัยขึ้นราว 2 เท่าตัว สสค.ขานรับนโยบายรัฐ 4 หน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ‘พัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต’ ดัน “ศูนย์เด็กเล็ก4.0” ด้วยแนวทางไฮสโคป ลงทุนน้อยได้
วันที่ 31 มี.ค. 2560 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อสารด้านการปฏิรูป (Thai Reporter 4.0) จัดเสวนาวิชาการขับเคลื่อนประเด็นศูนย์เด็กเล็ก ‘ต้นทาง’ การลดช่องว่างสังคม ‘ผู้สูงวัย’ สู่การเตรียมความพร้อม ‘เด็กปฐมวัย’
ณ โรงแรมชินาม่อนเรสซิเดนซ์ ถ.วิภาวดี
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค.กล่าวถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เดือนมกราคม 2560 ที่ระบุว่าประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 19,429 แห่ง มีครูผู้ดูเด็กและผู้ดูแลเด็ก จำนวน 52,207 คน ดูแลเด็กอายุ 2-5 ปีจำนวน 899,423 คนลดลงจากปี 2556-2560 ร้อยละ 2.48 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ที่คาดการณ์ว่าในปี 2576 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29 ส่วนประชากรเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.07 เท่า หมายความว่า ในอนาคตเด็กไทย ต้องแบกรับภาระจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น โดยเด็ก 1 คนจะต้องรับภาระผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าตัวในอีก 16 ปีข้างหน้า
ดร.ไกรยส กล่าวว่า การลงทุนด้านการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีต่อจากนี้จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และกับดักจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย (ร่าง) แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ก็ระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน รวมถึง (ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในยุคสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจะปล่อยให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงในการพัฒนาประเทศ ด้วยการปล่อยผ่านเรื่องคุณภาพเด็กปฐมวัยไม่ได้อีกแล้ว
“การพัฒนาเด็กปฐมวัยคือการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพในอนาคต แม้จะอยู่ในวัยผู้สูงอายุก็สามารถเป็นผู้สร้างงานสร้างรายได้ให้ประเทศไทย จนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้สามารถเอาชนะ 2 กับดักนี้ได้ หัวใจสำคัญของการลงทุนในเด็กปฐมวัยคือ การสร้างความเท่าเทียม ให้กลุ่มเด็กชายขอบเมืองและในพื้นที่ชนบทสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ อาจเริ่มจากศูนย์เด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 19,000 แห่งทั่วประเทศ และล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง บูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต จึงไม่มีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่สำคัญเท่ากับช่วงเวลานี้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอีกแล้ว”ดร.ไกรยศ กล่าว
ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้า ผู้จัดการโครงการลดความเหลื่อมล้ำดัวยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (RIECE Thailand) ร่วมกับสสค.กล่าวถึงโครงการ RIECE Thailand มีศูนย์เด็กเล็กที่เข้าร่วมทั้งหมด 50 ศูนย์ในจังหวัดมหาสารและกาฬสินธุ์ โดยใช้ High Scope เป็นแนวทางที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างได้ผล ไม่ได้เน้นให้เด็กเก่งเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ แต่เน้นการสร้างความพร้อมและการกระตุ้นการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน ในการวางแผน ลงมือทำ และการแชร์ข้อมูลกันที่เรียกว่า “Plan Do Review”
“จากการทดลองใน 50 ศูนย์เด็กเล็กที่พัฒนานำร่องเป็นศูนย์เด็กเล็ก4.0 เราพบว่า High Scope เป็นวิธีการที่คุ้มค่า ตามแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศ.เจมส์ เจ.แฮคเมน ที่ยืนยันว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้กำไรคืนมา 7-12 เท่า โดย ศูนย์เด็กเล็กอื่นๆสามารถนำไปใช้ได้ทันที เพราะต้นทุนไม่สูง ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม แต่ต้องมีบุคลากรที่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แม้เป็นอปต.ขนาดเล็ก มีงบประมาณน้อย ก็สามารถพัฒนาศักยภาพในท้องถิ่นได้อย่างจริงจัง”