ไม่โง่พอทำลายชาติ! ‘สกนธ์’ยันตั้งบรรษัทน้ำมันฯ ครม.ส่งมา-ปัดกรมพลังงานทหารคุม
พล.อ.สกนธ์ ประธาน กมธ.พลังงาน ร่ายยาวปม ม.10/1 ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ปูด ครม. เป็นฝ่ายส่งมาเอง ไม่ได้ขอ ย้ำจำเป็นต้องมี ปัดกรมพลังงานทหารมาคุม ชี้ช่องให้คนจากกรมพลังงานทหาร-ปตท.สผ.-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มาร่วมได้ ลั่นไม่โง่พอทำลายชาติ
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พลังงาน และประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวชี้แจงถึงกรณีมีกลุ่มคนออกมาเปิดเผยว่ามีอดีตนายทหาร 6 ราย กดดันให้มีการบัญญัติมาตรา 10/1 ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติสรุปได้ว่า กรณีนี้มีการศึกษาตั้งแต่ช่วงปี 2557 กระทั่งมาถึงรัฐบาลชุดนี้ กมธ.พลังงาน ได้รวบรวมข้อมูล และผลการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาชน ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เชียร์ให้ทหารรัฐประหาร เป็นพี่น้องพวกเราทั้งสิ้น และเห็นว่าเมื่อเป็นรัฐบาลทหารคงแก้ไขได้จึงมีข้อเสนอมาให้ แต่เป็นข้อเสนอที่เยอะมาก ปัญหาสะสมมากว่า 40-50 ปี เหมือนเงื่อนผูกปม ใช้เวลาคืนเดียวแก้ทั้งหมดไม่ได้ ต้องใช้เวลาและปัญหาค่อย ๆ แก้กันไป
พล.อ.สกนธ์ กล่าวอีกว่า ในเมื่อ กมธ.พลังงาน แก้ไขไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาชนเสนอทั้งหมด เนื่องจากรับข้อเสนอเฉพาะสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นรูปธรรมเท่านั้น รับข้อเสนอแค่ประมาณ 1 ใน 10 และคิดเพิ่มเติมด้วย จึงถูกประชาชนไม่พอใจ รวมถึงการโจมตีจากกลุ่มนายทุนด้วย แต่เราทนได้ เพราะต้องทำงานเพื่อประเทศ เพื่อคนไทย เพื่อแผ่นดินไทย ทหารทนได้ แต่อย่ามากเกินไป ทุกคนมีขีดจำกัด แต่ตอนนี้ยังทนได้อยู่ ในเมื่อผลการศึกษาออกมารูปแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องฟังถึง 100% แต่ดัดแปลง และพิจารณาตามความเหมาะสม
พล.อ.สกนธ์ กล่าวถึงประเด็นข่าวที่ถูกโจมตีอยู่ในขณะนี้ว่า เรื่องนี้ได้ส่งให้รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี รับทราบ และให้ความเห็นชอบทั้งหมด โดยเหตุการณ์เริ่มต้นในช่วงปี 2558 ตน และ กมธ.พลังงาน เคยถูกรองนายกรัฐมนตรี เชิญไปที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกถูก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เชิญไปเพื่อหารือว่า แก้ไขเพราะอะไร ประเด็นมีอะไรบ้าง ต่อมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้เชิญไปอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้พูดคุย กลับให้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ กลับมาเลย บอกว่า จะเอาอย่างนี้ คือแค่ไปรับทราบ แต่ไม่ได้หารือ แต่ตน และ กมธ.พลังงาน พิจารณาแล้วว่า ยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากการได้มาของปิโตรเลียมประเทศไทยปัจจุบันมีทางเดียวคือ สัมปทาน แต่ไม่มีวิธีแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ทั่วโลกนิยมใช้มากที่สุด และอีกวิธีหนึ่งคือสัญญาจ้างบริการ แต่ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้มา มีแค่สัญญาจ้างสำรวจและผลิตอย่างเดียว ขาดไปอีก 2 วิธี เห็นว่า ยังไม่สมบูรณ์ รับไม่ได้ จึงบอกเหตุผล ม.ร.ว.ปรีดิยาธรไป
“ในช่วงเวลาดังกล่าวได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ไปยังคณะรัฐมนตรี ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จึงมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา ซึ่งมติครั้งแรกมีเนื้อหาไม่ค่อยชัดเจน จึงเป็นครั้งแรกที่มีมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่สอง เพื่อชี้แจงมติคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในกรณีนี้ ผมจึงนำมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาใส่ในมาตรา 10/1 เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ผมไม่ได้ขอขึ้นไป แต่รัฐบาลทราบจากหลายสื่อ และเห็นว่าน่าจะสำคัญ และควรให้ต้องมีการดำเนินการเรื่องนี้ นี่คือที่มาที่ไปตั้งแต่ปี 2557 อยากให้สมาชิกใหม่ได้ทราบว่า ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร” พล.อ.สกนธ์ กล่าว
ประธาน กมธ.พลังงาน กล่าวอีกว่า สำหรับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) มีความจำเป็น เนื่องจากการดำเนินการของ NOC จะมาร่วมกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ยังทำทันทีไม่ได้ มีหลายคนถามว่าแล้วจะนำคนจากไหนมาทำ ในฐานะที่เคยรับราชการกรมพลังงานทหาร คลุกคลีในแวดวงปิโตรเลียมมานานกว่า 10 ปี เคยเป็น ผบ.คุมบ่อน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ดูแลการสำรวจและผลิต ก่อนจะระเห็จไปข้างนอกต่อ ขอแจ้งให้ทราบว่า กรมพลังงานทหาร มีคนที่มาช่วยทำงานได้ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิต จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ก็มีคน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็มีคน นำคนจาก 3 ส่วนมารวมกันได้ แต่ไม่เคยบอกว่า เอากรมพลังงานทหารเป็นแกนหลักในการทำ ไม่เคยพูดอย่างนั้น แต่แน่นอนว่ามีกระแสข่าวหลายแห่งลงมาพูดโน้มนำต่าง ๆ นานา นี่คือที่มาที่ไปของปัญหา ต่อมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พ้นจากตำแหน่งไป มีการกล่าวหาว่าเป็นเพราะพวกตน ขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน
พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนมากมายอยู่ด้านหน้ารัฐสภา ต้องการให้ตนถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ให้ได้ ยืนยันว่าไม่ใช่หน้าที่ตน แต่เป็นหน้าที่ของสภาที่จะพิจารณา ประการสำคัญคือทำไมถึงมีการต่อต้าน ตนทราบว่าต้านเพราะอะไร และเชื่อว่านานกว่าจะจบ ในการทำงานทุกคนมีความเห็นของตัวเอง ใช่ว่าหันซ้ายหันขวาได้ เมื่อใช้เวลาทำงานพักใหญ่ จึงมองเห็นปัญหา ต้องมีการปรับปรุงบ้าง อยากปรับมากกว่านี้ แต่ตนเป็นเสียงส่วนน้อยจึงไม่ผ่าน ทำได้ระดับหนึ่ง ปรับได้เฉพาะ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ อย่างเดียว คือเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้องจากคำว่า สัญญาสำรวจและผลิต เป็นสัญญาจ้างบริการ
“ทำไมประชาชนไม่พอใจ ทั้งที่ฟังเขามาแล้ว ยังรวมกลุ่มประท้วงผมเมื่อเช้า เพราะผม และคณะ ไม่ได้เห็นชอบตามที่เขาเสนอมาทั้งหมด เพราะบางอย่างเป็นไปไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน ปัญหาต้องใช้เวลาแก้ไข ถ้าอย่างนั้นล้าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯทั้งหมด ร่างขึ้นมาหใม่ เปลี่ยนกระบวนการใหม่ไปเลย แต่ปัจจุบันแค่แก้ปัญหาค่อยเดินไปก่อน ท่านไม่พอใจ เรียกเป็นฉบับปล้นกลางแดดบ้าง ผมเหมือนคนที่อยู่ซ้ายก็เจ็บ ขวาก็เจ็บ ส่วนกลไกที่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเลียม กล่าวหาผมเอียงซ้ายมาก เล่นงานผมเหมือนกัน ล่าสุดมีอดีตผู้ใหญ่ที่ทุกท่านคงทราบออกทางสื่อทุกท่าน แต่ผมไม่ให้น้ำหนัก ไม่ให้คุณค่าการพูดของคนเหล่านั้น ผมคนสภา ทำงานในกรอบสภา ถึงอายุน้อยกว่าแต่ศักดิ์ศรีสูงกว่า รับหน้าที่สำคัญกว่า ไม่พูด ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย ขอแจงให้สภา ให้พี่น้องทราบว่า ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร โดนพี่น้องหลายคนบอกทำไมไม่แก้ข่าว ผมต้องรบกวนท่านอกนิษฐ์ (พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ รองประธาน กมธ.พลังงาน คนที่ 2) ทำความเข้าใจบางเรื่อง มีโทรศัพท์มาหลายร้อยสาย แต่ผมไม่รับ แม้กระทั่งเบอร์สำคัญ เบอร์ผู้ใหญ่ ผมไม่กล้ารับ กลัวถูกสัมภาษณ์ เกินกึ่งหนึ่งของสภาแห่งนี้ เคยมีบทเรียนแล้วว่า ให้สัมภาษณ์อีกอย่าง ไปออกอีกอย่าง จึงไม่กล้าให้สัมภาษณ์” พล.อ.สกนธ์ กล่าว
ในช่วงท้าย ประธาน กมธ.พลังงาน กล่าวว่า มีความพยายามโยงให้เห็นว่า การกระทำของตน กับเพื่อนรวม 6 คน เช่น พล.อ.อกนิษฐ์ พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร พล.ร.อ.นพดล โชคระดา เป็นต้น ทั้งนี้ในกลุ่ม กมธ. มีนายทหารรายหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความรอบรู้ แต่ตนไม่ใช่นักธุรกิจ จึงได้รับความรู้ธุรกิจจากท่านเป็นหลัก การคิดอ่านเหล่านั้นต้องไม่ทำลายระบบ ไม่กระทบการลงทุน ต้องตระหนักว่า ถึงแม้ไม่มีนักธุรกิจก็ตาม ต้องเข้าใจว่า บ้านเมืองต้องมาก่อน สำคัญที่สุดคือบ้านเมือง อะไรได้ต้องได้ อะไรไม่ได้ต้องรอสิ่งแวดล้อมก่อนค่อยว่ากัน
“ผมกับคณะไม่มีเจตนาทำร้าย ปตท. สิ่งที่ปรากฏออกไปเหมือนน้ำแข็งที่ลอยบนผืนน้ำ ยังมีกระบวนการที่ยังไม่เข้าใจอีก ต้องการอธิบายว่า NOC จำเป็นอย่างไร ยังไม่รู้รูปแบบเป็นอย่างไร มีคนบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องการสร้างความเสื่อมเสียให้เรา กระบวนการทหารทำให้กลับคืนสู่อดีต ไม่ใช่ ปตท. ที่มาจากองค์การเชื้อเพลิงในอดีต และองค์การเชื้อเพลิงมาจากปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ขาดแคลนพลังงาน เอกชนต่างชาติกดราคา เมื่อก่อนกรมพลังงานทหารมีโรงกลั่น 2 โรง ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และที่บางจาก ซึ่งถูกบีบให้เป็นปั๊มน้ำมันบงจากในปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับทหารจะยึดอำนาจตามที่บอกกัน พวกเราไม่เขลาพอที่จะทำลายประเทศชาติอย่างนี้หรอก ผมกับคณะปรึกษากันแล้ว ไม่ให้น้ำหนักกับคำพูดเหล่านั้น” ประธาน กมธ.พลังงงาน กล่าว
อ่านประกอบ :
เอาชีวิตยันทหารไม่ยุ่งพลังงาน! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นขอให้เชื่อมั่นไม่ให้ใครเข้ามาหวังประโยชน์
คำสัญญา‘บิ๊กตู่’ : คสช.จะไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งบรรษัทน้ำมันฯเด็ดขาด!
ล้วงชื่อ กมธ.ร่าง กม.ปิโตรเลียม ‘บรรษัทน้ำมันฯ’โผล่-‘หม่อมกร’นั่งอนุฯด้วย
โยน คปพ.ดันตั้งบรรษัทน้ำมันฯ! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นไม่ฝันเฟื่องยุ่ง-ปัดให้ทหารเข้ามาคุม
คปพ.เข้าชื่อยื่นหนังสือถึงประธานสนช. 30 มี.ค.ค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
เปิดชื่อ กมธ.พลังงาน ดัน กม.ปิโตรเลียมก่อน‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’โผล่-นายพล 26 คน
อดีตนายทหาร6คน อยู่เบื้องหลัง!หม่อมอุ๋ย เปิดแผนฮุบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ
เจาะมติครม.บิ๊กตู่ vs.หม่อมอุ๋ย แกะรอยท่าที รบ.ทหารกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.สกนธ์ จาก สำนักนายกรัฐมนตรี