พอช.แจงอิศรา 4 ประเด็นแนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยคนมีรายได้น้อย
“...ที่ผ่านมา พอช. เป็นหน่วยงานที่ช่วยในการเปิดพื้นที่ ทำความเข้าใจ วางแผนและแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการใช้กฎหมาย ปว.44 ในการไล่รื้อชุมชนริมคลอง ไม่ใช่แนวทางของการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคง...”
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้ชี้แจง กรณีเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org)ได้ลงข่าวเรื่อง “เครือข่ายสลัมฯ ชี้โครงการพัฒนารัฐ ถ่างความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงสถานการณ์คนจนในเมืองที่กำลังประสบปัญหาการพัฒนาของรัฐว่ามูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามโครงการเมกะโปรเจ็คต่างๆทำให้คนจนเช่าที่ดินรัฐ อยู่ในที่ดินรถไฟวัดเอกชนกำลังถูกไล่รื้อ
“ ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่เช่าที่ดินในบริเวณดังกล่าว แม้ว่าจะมีความมั่นคงตามสัญญาเช่า 30 ปี หรืออย่างที่พระราม 3 ที่จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่พื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านกู้เงินมาปลูกบ้านเเล้วเป็นหนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ตามสัญญา 30 ปี แต่วันนี้มีการขอใช้พื้นที่เหล่านั้น โดยบอกว่าจะให้สิทธิ์เลือกคอนโดก่อนใคร ทั้งๆ ที่ เขาปลูกบ้านไปแล้ว เเล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ มีครอบครัวใหญ่ มีอาชีพค้าขาย จะไปให้อยู่คอนโด เเล้วเครื่องมือทำกินจะเอาไว้ที่ไหน จะเห็นได้ว่า รัฐให้โอกาสกับทุนก่อนเสมอ ทั้งๆ ที่ดินตรงนั้นมีความชอบธรรมตามสัญญาเช่าก็ยังพยายามหวานล้อมให้ชาวบ้านยอมรับเงื่อนไขใหม่..” นายสมชาติระบุถึงเนื้อข่าวตอนหนึ่ง
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช.ขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กลุ่มคนจนกำลังประสบปัญหาการพัฒนาของรัฐผ่านโครงการเมกะโปรเจคท์ส่งผลต่อชาวบ้านที่เช่าที่ดิน
พอช.ชี้แจงว่า เนื่องจากมีชุมชนที่ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นสิทธิการเช่าระยะยาว มีระบบการต่อสัญญาเช่าในทุก 1 ปี , 3 ปี และได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนทั้งด้านสาธารณูปโภค และที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีแผนในการพัฒนาพื้นที่/พัฒนาระบบราง ส่งผลให้ชุมชนที่ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินแล้วได้รับผลกระทบในด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งบางชุมชนมีภาระด้านสินเชื่อในการปลูกสร้างบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาชุมชนเองมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ 1) ขอให้รัฐบาลบรรจุแผนงบประมาณในการเยียวยา ดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบไว้ในแผนงานโครงการของรัฐที่จะมีการดำเนินการ 2) ในบางชุมชนที่ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่หรือแผนงานโครงการ ขอให้ชุมชนได้เช่าที่ดินในบริเวณเดิมต่อไป
ประเด็นที่ 2 กรณีโครงการบ้านมั่นคงที่ได้รับสัญญาเช่า 30 ปี แล้วเปลี่ยนเป็นรูปแบบคอนโดฯ เป็นการบังคับหรือไม่
พอช.ชี้แจงว่า โครงการบ้านมั่นคง ไม่มีแนวทางในการให้ชุมชนเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยจากเดิมเป็นรูปแบบคอนโดมิเนียม กรณีที่กล่าวถึง เป็นกรณีของชุมชนริมทางรถไฟช่องลม-หลังฉาง ซึ่งชุมชนนี้ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ 30 ปี และได้พัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงแล้ว ซึ่งทางการรถไฟฯ มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณเป็นย่านเศรษฐกิจ และได้ยื่นข้อเสนอขอคืนพื้นที่กับชุมชน โดยเสนอให้ชุมชนได้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมที่การรถไฟฯ จะมีการดำเนินการก่อสร้างในโครงการย่านพระราม 3 โดยทางชุมชนขอให้ทางการรถไฟฯ กันพื้นที่ที่ชุมชนเช่าแล้วออกจากแผนงาน/โครงการพระราม 3
ประเด็นที่ 3 พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
พอช. ชี้แจงว่า พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 4) 2550 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยได้เพิ่มมาตรา 7(8) เพื่อเปิดโอกาสให้ออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติเกี่ยวกับอาคารที่หน่วยงานของรัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร สำหรับอาคารในโครงการที่รัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย พ.ศ. 2554 (14 ม.ค. 2554) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อลดอุปสรรคในด้านการขออนุญาตปลูกสร้าง ด้านการกำหนดมาตรฐานของอาคารในบางส่วนที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง แข็งแรง หรือความปลอดภัยของอาคาร สำหรับที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งที่ผ่านมาในทางปฏิบัติมีปัญหาด้านการตีความ และการนำไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 4 กรณีการใช้กฎหมาย ปว.44 ขับไล่ชุมชนริมคลองเป็นการแบ่งแยกประชาชนโดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนจนถูกละเมิดสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย
พอช. ชี้แจงว่า การใช้กฎหมาย ปว.44 นั้น เป็นอำนาจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกับชุมชนที่อยู่ในเขตคลองลาดพร้าว คลองย่อย รวมถึงพื้นที่ที่ชุมชนบุกรุกในเขตของกรุงเทพมหานคร และการใช้ ปว.44 นั้น จะเน้นใช้กับที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในคลองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชุมชนริมคลองได้มีข้อเสนอต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าวว่า ควรมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่ในน้ำและบนที่ดินบริเวณริมคลอง เนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองนั้นมีขนาดจำกัด หาก กทม. ใช้มาตรการเพียงกับผู้อยู่ในแนวคลองเพียงกลุ่มเดียว อาจไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้แนวทางบ้านมั่นคงได้
“ที่ผ่านมา พอช. เป็นหน่วยงานที่ช่วยในการเปิดพื้นที่ เปิดเวทีในการทำความเข้าใจ วางแผน และแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการใช้กฎหมาย ปว.44 ในการไล่รื้อชุมชนริมคลอง อาจทำให้เกิดการแบ่งแยกผู้อยู่อาศัยในชุมชนเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่แนวทางของการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคง” คำชี้แจงของ พอช.ระบุในตอนท้าย