กรีนพีซ ชี้ทรัมป์ยกเลิกแผนจัดการโลกร้อนไม่ง่ายอย่างที่คิด
ผู้อำนวยการกรีนพีซไทย มองสถานการณ์ หลังทรัมป์ยกเลิกแผนโลกร้อน ชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกไม่เดินทางนี้เเล้ว ซ้ำยังโดนแรงกดดันภายใน ชี้จุดยืนไทยยังไม่ชัดเจน มีแต่คำมั่น-ไม่ตั้งใจทำจริงจัง
จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งผู้บริหารยกเลิกกฏข้อบังคับที่ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยประกาศยกเลิกการทำสงครามกับถ่านหิน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่มีขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโอบามา โดยทรัมป์ระบุว่า เป็นการสิ้นสุดของกฏเกณฑ์ที่ฆ่าการจ้างงานของชาวสหรัฐฯ
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org) ว่า นโยบายทรัมป์เห็นได้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการตัดงบประมาณด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมออก นัยยะของการตัดงบนโยบายนี้เอง มีความท้าทายอย่างมาก แม้ว่าทรัมป์จะสามารถทำได้เพราะหากมองในเวทีโลกร้อน ตั้งแต่การประชุมที่เมืองโคเปนเฮนเก้น ที่ปารีส และที่ มาราเกซ เมื่อปีที่เเล้ว ประชาคมโลกมองว่า ต่อให้ไม่มีสหรัฐฯ ประเทศต่างๆ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในเรื่องการจัดการผลกระทบต่อสถาวะโลกร้อน การลดก๊าซเรือนกระจก เพราะว่านี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ แสดงจุดยืนแบบนี้ หากดูในสมัยประธานธิบดีบุช ทั้งสมัยพ่อและลูก มีความพยายามในเรื่องนี้ แต่ปฏิกิริยาที่จะลดโลกร้อนจริงจังมาเกิดในยุคของโอบามา
นายธารา กล่าวถึงความท้าทายอีกอย่างนั่นคือนโยบายนี้จะคล้ายกับนโยบายที่กีดกันคนมุสลิมจาก 6 ประเทศเข้าสหรัฐฯ จนมีการยื่นเรื่องนี้ต่อศาล ศาลก็ตัดสินยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศไว้ว่า หลักการเสรีภาพ ภราดรภาพของสหรัฐฯ ต้องไม่มีแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ซึ่งเรื่องโลกร้อนเองก็จะเหมือนกัน คือ จะถูกท้าทาย ผ่านกระบวนการทางศาลสหรัฐฯ ที่ไปแย้งกับหลักการขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ
นายธารา กล่าวต่อว่า แผนลดโลกร้อนของทรัมป์คือการไปสนับสนุนอุตสาหกรรมจำพวกฟอซซิล ให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะรัฐบางรัฐในสหรัฐฯ อย่าง แคลิฟอร์เนีย หรือรัฐในแถบที่เป็นฐานคะแนนเสียงของทรัมป์เอง กระแสการลงทุนพลังงานหมุนเวียนกำลังโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อให้มีการฟื้นอุตสาหกรรมฟอซซิลขึ้นมา ก็ถูกมองว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มอีกต่อไป อีกอย่างคือกระแสการเคลื่อนไหวของคนในสหรัฐฯ อย่าง People March มีคนออกมาประท้วงมากขึ้น เรียกร้องมากขึ้น ให้ทรัมป์พิจารณาให้รอบคอบมากขึ้น
นายธารา กล่าวด้วยว่า นโยบาย การจ้างงาน อเมริกามาก่อนที่ทรัมป์หวังว่าจะฟื้นอุตสาหกรรมเหล่านี้มาช่วย แต่อย่าลืมว่า พลังงานหมุนเวียนก็โตเร็วมาก ถ้าเขาต้องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเดิมให้กลับคืนมา จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และหากมองในระยะยาวจะพบว่า เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะโลกไปอีกทางเเล้ว ในขณะที่ประชาคมโลกอาจไม่สนใจเเล้ว หากสหรัฐฯ จะยกเลิกในเรื่องนี้ และอาจไม่อยู่ในสายตาต่อไป ซึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับทรัมป์
เมื่อถามถึงจุดยืนของไทยต่อเรื่องนี้นั้น นายธารา กล่าวว่า จุดยืนของไทยต่อเรื่องโลกร้อนในเวทีเจรจา เราให้คำมั่น แต่ไม่ดูมุ่งมั่นสักเท่าไหร่ อย่างการลด 20% อย่างไรก็ทำได้ เพราะหากดูตามแผน PDP ที่มีความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปราฏกว่า ไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะเกิดการคัดค้าน ไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้น แผน PDP ที่จะทบทวนใหม่ ต้องดูกันใหม่ว่า เราจะดันทุรังไปทำแบบเดิม เน้นโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คงจะไม่ได้อีกต่อไป กระบวนการวางแผนที่มีอยู่ก็คงยาก เพราะคนที่วางแผนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจถ่านหิน นโยบายลดโลกร้อนของรัฐบาลไทยก็จะถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งระดับล่าง และระดับโลก รัฐบาลที่จะประกาศสร้างโรงไฟฟ้าก็คงยากขึ้น
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก http://www.greennewstv.com/