นักวิชาการหนุนไร้ใบประกอบวิชาชีพสอบได้ แก้ขาดแคลนครูบางสาขา
ทีดีอาร์ไอชี้การรับสมัครครูควรรับทั้งผู้ที่จบจากศึกษาศาสตร์และผู้ที่จบจากสาขาอื่นควบคู่กัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู รองเลขา CHESS หนุนรับสมัครคนทั่วไปมาเป็นครู เพราะมีความรู้เฉพาะทางจะช่วยพัฒนานักเรียนได้ดี อีกทั้งแก้ปัญหาวิชาที่ขาดแคลนครูเรื้อรังได้
จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูปี 2560 โดยเปิดรับสมัครผู้จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ศึกษาศาสตร์(เฉพาะบางสาขาที่กำหนดเท่านั้น)ให้มาทำการสอบบรรจุครูได้นั้น
นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่งและลดความขาดแคลนครูบางสาขา แต่ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ครูสอนดี ขณะที่การสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการในปัจจุบัน ก็ยังเป็นการคัดเลือกคนเก่งเนื้อหาวิชามากกว่าครูสอนดี เพราะข้อสอบวัดเฉพาะเนื้อหาความรู้วิชาเอก ความรู้รอบตัว และความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเอก
"ระบบการศึกษาควรมีการเปิดรับสมัครหาครูสองวิธีการควบคู่กัน โดยการเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริม สำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูในสาขาขาดแคลนและการสรรหาครูอาชีวศึกษา ซึ่งต้องการการบริหารที่แตกต่างจากครูสายสามัญ แต่หากไม่มีความขาดแคลนครู การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการคัดเลือกและการฝึกอบรมเพิ่มเติม"
ขณะที่ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHESS) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการใช้มาตรการนี้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในบางสาขาแบบเฉพาะหน้า สำหรับการให้ผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักอยู่แล้ว ส่วนกรณี 25 สาขาวิชาจะมีใบอนุญาตฯหรือไม่มีใบอนุญาตฯก็สามารถสมัครได้นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สาขาวิชา ที่คณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ที่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 5 ปี จำนวน 17 สาขาวิชา และกลุ่ม 2 สาขาขาดแคลนเรื้อรัง 8 สาขานั้นเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งต้องการครูที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น วิชาฟิสิกส์ เคมี หรือคณิตศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการแก้สมการยาก ๆ เป็นต้น
"แนวทางดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมผู้เรียนได้เกิดเรียนรู้เต็มศักยภาพ เพราะผู้เรียนทุกคนต้องการเรียนกับครูที่รู้จริง ประกอบกับผลงานวิจัยเรื่อง พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการจัดการความรู้ พบ โรงเรียนสาธิตที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของประเทศนั้น มีรายวิชาเลือกเสรีให้กับผู้เรียนจำนวนร้อยกว่าวิชา โดยวิชาเหล่านั้นเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้เรียน เช่น การเตรียมเป็นนักนิเทศศาสตร์ สถาปนิก วิศวกร ซึ่งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาเป็นครูผู้สอนในรายวิชาเลือกเสรีดังกล่าว ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูแต่ก็สามารถมาสอนได้"ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าว และว่า เนื่องจากรูปแบบโรงเรียนสาธิตไม่ได้อยู่ภายใต้การจัดการเรียนรู้เหมือนกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และเป็นที่ต้องการของผู้เรียนและผู้ปกครองเป็นจำนวนมากในการส่งบุตรหลานได้เข้ามาศึกษา ดังนั้นการให้ครูสาขาขาดแคลนเรื้อรังได้มีโอกาสเข้ามาสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น แต่ในระยะยาวต่อไปควรวางระบบการผลิตครูที่ทำให้คนเก่งมาเรียนในวิชาชีพให้มากขึ้น เพราะอนาคตของลูกหลานไทยขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างจริงจัง
อ่านประกอบ : อ.จุฬาฯ ค้านไม่มีใบวิชาชีพสอบครูผู้ช่วย ยันเสี่ยงเกินไป-ขัดหลักการ
ก.ค.ศ. ยันมติรับสมัครครูผู้ช่วย สพฐ. ไม่มีใบวิชาชีพสอบได้ 25 สาขา