แก้ปัญหาหมดอายุความ! ‘มีชัย’เผย กม. ใหม่ไต่สวนเร็วขึ้น-หาช่องคนสอบ ป.ป.ช.
‘มีชัย’ เผย พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ให้ไต่สวนเร็วขึ้น แยกอำนาจระหว่างกรรมการ-เจ้าหน้าที่ แก้ไขปัญหาหมดอายุความในชั้นอัยการ เล็งหาช่องทางคนมาตรวจสอบ ป.ป.ช. ด้าน ‘พล.ต.อ.วัชรพล’ เผยเตรียมเพิ่มมาตรการอายัดทรัพย์นานขึ้น ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทางอิเล็กทรอนิกส์
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวเปิดงาน มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ เป็นผู้เข้าร่วมการอภิปราย
นายมีชัย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งสรุปได้ว่า ปัญหาของ ป.ป.ช. ในอดีตคือทำงานด้วยระบบคณะกรรมการ ต่อด้วยคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน แต่การทุจริตมีเป็นหมื่นเรื่อง จึงเป็นเรื่องยากที่จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนได้ทั้งหมด รัฐธรรมนูญจึงเขียนว่า อำนาจการสอบสวนไต่สวน และชี้มูลความผิดเป็นของคณะกรรมการ แต่การไต่สวนสามารถมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ โดยไม่ต้อตั้งคณะอนุกรรมการ และบัญญัติเป็นหลักประกันว่า การทำงานของ ป.ป.ช. ต้องซื่อสัตย์ สุจริต มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเที่ยงธรรม นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ได้ตัดสิ่งเล็ก ๆ ออก เพื่อให้มุ่งการปราบปรามการทุจริต ส่วนการประพฤติมิชอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลกันเองภายใต้การกำกับของ ป.ป.ช. เช่น การโกงค่าน้ำมันรถ หรือการมาทำงานสาย เป็นต้น
นายมีชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่กำหนดใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฝ่าย กรธ. พยายามสร้างประสิทธิภาพลดขั้นตอนการกำหนดการไต่สวนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และกำหนดระยะเวลาว่า ให้เสร็จภายในเมื่อไหร่ ต้องไม่ปล่อยให้อายุความเหลือเพียง 1-2 เดือน แล้วหมดอายุความในชั้นอัยการ รวมถึงต้องสร้างกลไกควบคุมการทำงาน และใช้หลักเดียวกันคือถ้าสงสัยในความไม่สุจริตต่อหน้าที่ ต้องเอาออกไปก่อน
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า อีกจุดสำคัญคือ ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบการทุจริตหน่วยงานของรัฐทั้งหมด และตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย แต่มีปัญหาว่าใครจะตรวจสอบ ป.ป.ช. ดังนั้นในส่วนของเจ้าหน้าที่ หากไม่สุจริต จะให้ใครดำเนินการ จึงกำลังมองหาลู่ทางว่าให้ฝ่ายใดเป็นผู้ตรวจสอบ ป.ป.ช. และอยากฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ส่วน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงประเด็นนี้สรุปได้ว่า การตรวจสอบการทุจริต เส้นทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และหัวใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคือเรื่องติดตามทรัพย์สินที่ทุจริตกลับคืนสู่รัฐให้ได้ และอาจแก้ไขระยะเวลาในการอายัดทรัพย์สินจากเดิม 1 ปี ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงอาจถูกเข้าข่ายความรับผิดทางละเมิดเพิ่มเติมได้ด้วย นอกจากนี้คือให้ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ให้ยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้น และหากพบความผิดปกติจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบแบบพิเศษ
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตของประเทศไทยตามผลวิจัยของ ม.หอการค้าไทย หลายปีที่ผ่านมาเสียหายประมาณ 30% ของงบประมาณ หรือราว 3 แสนล้านบาท แต่ในช่วงปี 2557-2559 เสียหายประมาณกว่าแสนล้านบาทเท่านั้น และรัฐบาลใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาประมาณ 3 พันล้านบาท คิดเป็น 0.01% ของงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันเตรียมตั้งกองทุนเพื่อนำทรัพย์สิน หรือเงินที่ได้จากการอายัดทรัพย์สินบุคคลที่ร่ำรวยผิดปกติ มาสนับสนุนเครือข่ายภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ใสสะอาด ต้านทุจริตด้วย