เครือข่ายสลัมฯ ชี้โครงการพัฒนารัฐ ถ่างความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น
เครือข่ายสลัมฯ ชี้โครงการพัฒนารัฐ ผลักคนจนเมือง ไม่มีทางไป ถ่างความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น วอนคนไทยทำความเข้าใจ คนสลัมไม่ได้ต้องการที่ดินใคร แต่ขอสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ที่อาคาร ราชกุมารี 60 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Focus on the Global South และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดเวทีนำเสนอและทบทวนสถานการณ์สิทธิในที่ดินและป่าไม้ และการเข้าถึงความยุติธรรม
นางนุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงสถานการณ์คนจนในเมืองที่กำลังประสบปัญหาการพัฒนาของรัฐ ว่า มูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามโครงการเมกะโปรเจ็คต่างๆ ทำให้คนจนเช่าที่ดินรัฐ อยู่ในที่ดินรถไฟ วัด เอกชน กำลังถูกไล่รื้อ ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่เช่าที่ดินในบริเวณดังกล่าว แม้ว่าจะมีความมั่นคงตามสัญญาเช่า 30 ปี หรืออย่างที่พระราม 3 ที่จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่พื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านกู้เงินมาปลูกบ้านเเล้วเป็นหนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ตามสัญญา 30 ปี แต่วันนี้มีการขอใช้พื้นที่เหล่านั้น โดยบอกว่าจะให้สิทธิ์เลือกคอนโดก่อนใคร ทั้งๆ ที่ เขาปลูกบ้านไปแล้ว เเล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ มีครอบครัวใหญ่ มีอาชีพค้าขาย จะไปให้อยู่คอนโด เเล้วเครื่องมือทำกินจะเอาไว้ที่ไหน จะเห็นได้ว่า รัฐให้โอกาสกับทุนก่อนเสมอ ทั้งๆ ที่ดินตรงนั้น มีความชอบธรรมตามสัญญาเช่า ก็ยังพยายามหวานล้อมให้ชาวบ้านยอมรับเงื่อนไขใหม่
นางนุชนารถ กล่าวถึงคดีความที่ชุมชนแออัดเผชิญอยู่ 300 คดี โดนขู่ว่าอย่าสู้เลย สู้ยังไงก็แพ้ จนรู้สึกว่า ช่องทางกฎหมาย คนในชุมชนโดนฟ้องร้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือแม้แต่การไปร้องสภาทนายความก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหา กลับให้ยอมความ เป็นสิ่งที่คนสลัมไม่มีทางเลือก
"แม้การต่อสู้ที่ผ่านมาแม้จะมีเจ้าภาพอย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีบ้านเอื้ออาทรที่ไม่เอื้อกับพวกเรา เพราะพวกเราเป็นพ่อค้าแม่ค้าขับรถเก็บของเก่าไม่สามารถเข้าไปซื้อบ้านเหล่านั้นได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข เราพยายามผลักดันให้เกิดบ้านมั่นคงขึ้น แต่ก็ติดพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พวกเราไม่ได้มีความสุขอย่างที่คนอื่นคิดว่าเรามี สังคมตราหน้าว่าเราเป็นคนไม่ดี เป็นแหล่งสร้างอาชญกร เป็นคนสลัม” นางนุชนารถ กล่าว และว่า คนสลัมไม่มีเครื่องมือที่จะไปต่อสู้ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อที่จะเอาที่ดินของใคร แต่ต่อสู้เพื่อขอระยะเวลาในการหาที่อยู่ใหม่ ขอเวลาในการแก้ปัญหา แต่คนมาแสดงความเห็นว่า หน้าด้านต่างๆ นานา ขณะที่คนในสังคมไทยมองว่า คนสลัมไปแย่งที่อยู่คนอื่น เราไม่ได้อยากจน เราเองก็อยากมีที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่วันนี้เราไม่สามารถทำตรงนั้นได้
นางนุชนารถ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ดินริมคลองที่กทม.ดูเเล กำลังใช้กฎหมาย ปว.44 มาขับไล่ ชุมชนใหญ่ที่มีข่าวว่า 9 คลองหลักที่จะมีการจัดการน้ำ มีการจัดตั้งงบประมาณในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่คลองย่อยๆ กว่าสองพันแห่งในกรุงเทพฯ ไม่เคยตั้งงบประมาณในการแก้ปัญหาเลย ไล่รื้ออย่างเดียว ถ้าชาวบ้านไม่ออก ก็เอา ปว.44 มาใช้
“ปว.44 เป็นกฎหมายเมื่อปี 2502 ยังเอามาใช้ แล้วไม่มีสิทธิที่จะยื้อที่จะอยู่ได้เลย สิ่งที่เราเห็นชัดเจน คือ การแบ่งแยกโดยสิ้นเชิง และพยายามกำจัดคนเหล่านั้นออก บางชุมชนไม่สามารถไปอยู่ที่ไหนได้ กลายเป็นคนไร้บ้าน อยู่นอกเมือง เขาบอกว่า ดี เดี๋ยวมีขนส่งมวลชนไปถึง ถามว่ารถไฟฟ้า กับคนที่หาเงินได้วันละ 300 บาท จะเอาเงินจากไหนไปจ่ายค่ารถไฟฟ้าไปและกลับ”
นางนุชนารถ กล่าวด้วยว่า เรากำลังถูกละเมิดสิทธิ์ในเรื่องที่อยู่อาศัย ถ้าให้เราแก้ปัญหา ต้องเปิดโอกาสให้เราหาที่อยู่ที่ไม่ไกลจากแหล่งทำกินเดิม ให้มีโอกาสว่าเราจะอยู่อย่างไร การบอกให้ไปอยู่บ้านเอื้ออาทร ถึงให้ไปอยู่ ก็ไม่ได้อยู่ฟรี เราเสียเงิน เราก็ควรมีสิทธิ์เลือกบ้าง
"จนแล้วยังถูกกดให้ต่ำไปอีก เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เลย รัฐไม่เคยปฏิบัติกับเราในทางที่ถูกต้อง ที่ดินคือความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง ถ้าเราไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย ความเหลื่อมล้ำก็ไม่มีทางหมดไป"