2 สมาคมสื่อ-คุ้มครองผู้บริโภคค้าน กสทช.คำสั่งปิด Voice TV
2 สมาคมนักข่าวฯ - คุ้มครองผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. ทบทวนคำสั่งของ กสท. กรณีสั่งพักใบอนุญาต Voice TV ชี้ใช้กฎหมายจัดการได้ ไม่ต้องใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี
แถลงการณ์ร่วม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง ขอเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนคำสั่ง กสท. ที่สั่งพักใบอนุญาต Voice TV
สืบเนื่องจาก กสท. สั่งพักใบอนุญาต Voice TV โดยอ้างเหตุผลว่า Voice TV กระทำผิดซ้ำซาก เพราะมีการออกอากาศรายการที่ขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ใน 3 รายการ ยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ยุยงให้เกิดความแตกแยก ประกอบด้วย 1.รายการใบตองแห้งออกอากาศ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 เรื่องธรรมกายกับรัฐบาล 2.รายการ In Her View ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560 เรื่องเครือข่ายโกตี๋กับอาวุธสงคราม และ 3.รายการ Over View ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560 เรื่อง การวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ นั้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอคัดค้านมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่สั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ Voice TV เป็นระยะเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.การสั่งพักใบอนุญาต ระงับการออกอากาศ Voice TV เป็นเวลา 7 วันได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับวอยซ์ทีวีในฐานะเป็นองค์กรธุรกิจและองค์กรสื่อ ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในหลายส่วนและอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการ หรือมีส่วนรับรู้ในการกระทำการของพิธีกรรายการแต่ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะลำพังกสท.ใช้อำนาจสั่งพักรายการบางรายของ Voice TV ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง แต่การใช้อำนาจพักใบอนุญาต Voice TV ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงยิ่งกว่า
ดังนั้น กสท.เป็นส่วนหนึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ และกำกับผู้ได้รับใบอนุญาต หากไม่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ กสทช. จะเป็นองค์กรที่ทำลายเสรีภาพสื่อและองค์กรธุรกิจสื่อเสียเอง
2. กสทช.เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจและมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันไม่ให้อำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์การสื่อที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ กรณีที่ กสท. ได้อ้างถึงหนังสือร้องเรียนทางช่อง VoiceTV มาจากคณะกรรมการติดตามสื่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจำนวน 4 รายการ มีมติพักใบอนุญาตครั้งนี้เท่ากับ กสท.ยอมและเปิดทางให้อำนาจอื่นเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของกสทช.โดยตรงเสียเอง
และมีผลกระทบต่อองค์กรสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสท.โดยตรง รวมทั้งทำลายน่าเชื่อถื่อของ กสท.และส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนภายใต้การกำกับของ กสทช.ให้เลวร้ายลงไปอีก รวมถึง ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทยก็ลดลงไปเช่นกัน
3. มติของ กสท. ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 ,2550 และฉบับที่ผ่านประชามติที่ให้การรับรองบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และใช้เสรีภาพเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทำมิได้เช่นกัน ดังนั้นมติ กสท. ครั้งนี้เป็นใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และกระทบต่อสิทธิต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ กำหนดไว้ว่า "การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นจะกระทำไม่ได้" ก็เพื่อให้องค์กรสื่อในส่วนที่ไม่ได้สร้างปัญหายังคงทำหน้าที่ต่อไปได้
ในกรณีของ Voice TV หากรายการใดมีปัญหาก็ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หรือหากการเสนอเนื้อหาของ Voice TV หรือทีวีช่องใด มีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือละเมิดสิทธิบุคคล หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย ก็ชอบที่จะใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว และในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากสื่อใดนำเสนอรายการที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือละเมิดสิทธิผู้คน กลไกตลาด ผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินสื่อนั้นได้เช่นกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมทั้งสองขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนคำสั่งของ กสท. โดยด่วนและหากรายการใดมีปัญหา ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วจัดการได้ แต่ต้องไม่ใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
28 มีนาคม 2560
วันเดียวกัน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า
จากการที่กสทช.มีมติปิดสถานีโทรทัศน์ว๊อยส์ทีวีเป็นเวลา 7 วันนั้น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนแล้ว ยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ที่รับรองไวัในรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
แม้ กสทช.จะมีอำนาจที่จะเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุได้ แต่การมีมติใดๆก็ตามของ กสทช.ควรเป็นการใช้มติที่เคารพสิทธิของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 การปิดสถานีโทรทัศน์ทั้งสถานีเพียงเพราะว่ามีรายการที่มีผู้ร้องเรียนจากคสช. เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ เนื่องจากว่าที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนรายการต่างๆ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์เข้ามาเป็นจำนวนมากมากว่าห้าปี โดยที่มีหลายรายการละเมิดสิทธิผู้บริโภค อีกหลายรายการกระทำผิดกฎหมาย พรบ.กสทช. อย่างมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ แต่ กสทช.ไม่เคยใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาต แต่ให้ใช้กระบวนการพิจารณาเป็นรายการแต่ละรายการไป อีกประการหนึ่ง ยังมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ แต่ กสทช. ยังไม่ได้นำมาพิจารณา
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ขอเรียกร้องให้
1. กสทช.ควรกำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแลรายการโดยให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการพิจารณาข้อร้องเรียนเรื่องเนื้อหารายการ และการกำหนดโทษ เป็นรายการแต่ละรายการ
2. กสทช. เพิกถอนมตินี้ เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยทันที
3. กสทช.เร่งกระบวนการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และส่งเสริมความเข้มแข็งผู้บริโภคสื่อ
ทั้งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความศรัทธาของสาธารณะชนที่มีต่อ กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)