หนึ่งในทีมพูดคุยฝ่ายมาราฯ ดับปริศนาที่่ตรังกานู
มีรายงานการเสียชีวิตของผู้เห็นต่างจากรัฐคนสำคัญในประเทศมาเลเซีย โดยบุคคลผู้นี้มีบทบาทในกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้กับรัฐบาลไทย ทั้งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในยุครัฐบาล คสช.
เมื่อกลางเดือน มี.ค.60 มีข่าวที่ได้รับการยืนยันตรงกันจากแแหล่งข่าวหลายแหล่งว่า ผู้เห็นต่างจากรัฐคนสำคัญซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา โดยทางการมาเลเซียอ้างว่าผู้เห็นต่างฯรายนี้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ขณะเดียวกันก็มีข่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซียเองยืนยันว่า เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการสอนประกอบระเบิดแสวงเครื่อง ที่รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
ชายผู้นี้มืชื่อจัดตั้งหลายชื่อ คนใกล้ชิดบ้างก็เรียกเขาว่า "อาหมัด" บ้างก็เรียกเขาว่า "อาบู" มีบทบาทในกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ทั้งการพูดคุยสันติภาพเมื่อปี 2556 กับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ ชินวัตร ซึ่งฝ่ายผู้เห็นต่างฯมี นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้า ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยมี พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เป็นหัวหน้า โดย นายอาหมัด ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น
ส่วนในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับกลุ่ม "มารา ปาตานี" หรือองค์กรร่มของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มนั้น นายอาหมัด มีบทบาทเป็นคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ หรือคณะพูดคุยชุดเล็ก ที่หารือรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ก่อนส่งให้คณะพุดคุยฯชุดใหญ่ชี้ขาด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางการมาเลเซียพยายามปิดข่าวการเสียชีวิตของชายผู้นี้ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยตั้งข้อสังเกตว่า หากนายอาหมัดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการสอนประกอบระเบิดแสวงเครื่องจริง ย่อมแสดงว่าทางการมาเลเซียไม่สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่พำนักอยู่ในมาเลเซียได้ หรืออาจปิดตาข้างหนึ่งให้คนเหล่านี้สามารถเคลื่อนไหวได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของมาเลเซีย และไม่โยงการก่อการร้ายข้ามชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็สะท้อนถึงความจริงใจของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถิติการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างมาก และทั้ง "มารา ปาตานี" กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ก็กำลังร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์และประเมินสถานการณ์เพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยมีข่าวว่าทางการมาเลเซียได้เรียกแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบบางคน รวมทั้ง นายดูนเลาะ แวมะนอ และพวก เพื่อปรามไม่ให้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้ นายดูนเลาะ เพิ่งขึ้นมาคุมอำนาจในขบวนการบีอาร์เอ็นภายหลังการเสียชีวิตของนายสะแปอิง บาซอ โดยเขาพำนักอยู่ในมาเลเซียมานานหลายปีเช่นกัน
จากบทบาทของมาเลเซียดังกล่าว หากเป็นจริงตามข่าว ย่อมหมายถึงว่าความสงบหรือไม่สงบของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยขึ้นอยู่กับอิทธิพลและท่าทีของมาเลเซียเป็นหลัก ฉะนั้นกระบวนการพูดคุยฯอาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะสร้างสันติสุขได้อย่างยั่งยืนแท้จริง
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หนึ่งในทีมพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในรัฐบาลประชาธิปัตย์ (2551-2554) เคยให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ไม่ควรใช้มาเลเซียเป็นคนกลางหรือผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุย เพราะมาเลเซียมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเกี่ยวโยงกับปัญหาชายแดนใต้ของไทยมากเกินไป โดยในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้อินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และประสบความสำเร็จในการพูดคุย สามารถกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ได้ถึง 3 อำเภอ
ที่ผ่านมามีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียส่งตัวบุคคลที่มีหมายจับของทางการไทยกลับมาดำเนินคดี หรืออย่างน้อยก็ควบคุมความเคลื่อนไหวของบรรดาสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนคนสำคัญที่หนีไปพำนักอยู่ในมาเลเซีย แต่ก็ไม่เคยมีผลเป็นรูปธรรมใดๆ
อย่างล่าสุดที่เกี่ยวกับ "โครงการพาคนกลับบ้าน" ที่เปิดช่องทางให้ผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับเข้ามอบตัวแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยทางการไทยเตรียมสร้างหมู่บ้านไว้รองรับคนกลุ่มนี้ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี นั้น ก็มีเสียงทักท้วงจาก พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า เมื่อแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนแทบทุกระดับพำนักอยู่ในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการพาคนกลับบ้าน เหตุใดทางการมาเลเซียจึงไม่ส่งคนเหล่านี้กลับมา โดยสามารถพิสูจน์ชื่อและหมายจับของแต่ละคนกับข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทยได้ หรือหากต้องการให้คนเหล่านี้พำนักอยู่ในมาเลเซีย ก็ควรหาพื้นที่สร้างหมู่บ้านให้อยู่รวมกัน เพื่อให้สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของไทยได้ และหากญาติของคนเหล่านี้จากฝั่งไทยเดินทางไปเยี่ยม ก็ขออนุญาตไปเยี่ยมเป็นคราวๆ ไป
วิธีการแก้ไขปัญหาแบบนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ บอกว่า รัฐบาลไทยในอดีตเคยใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ให้มาเลเซียมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยเมื่อการเจรจาจบลง หากใครต้องการกลับมาเลเซีย ก็พร้อมส่งกลับ แต่ถ้าใครไม่อยากกลับ ทางการไทยก็จัดสถานที่ตั้งหมู่บ้าน และมอบที่ดินทำกินให้ หากญาติทางฝั่งมาเลเซียต้องการมาเยี่ยม ก็ทำเรื่องประสานกับทางการไทยเป็นคราวๆ ไป วิธีการเช่นนี้ทำให้สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มโจรจีนฯ จนไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของมาเลเซียได้
แต่ในทางกลับกัน กับปัญหากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รัฐบาลมาเลเซียกลับไม่ยอมดำเนินการใดๆ หนำซ้ำยังอนุญาตให้สมาชิกขบวนการเคลื่อนไหวในมาเลเซียได้อย่างเสรี รวมทั้งล่าสุดที่ว่ามีการจัดประชุมเพื่อเลือกผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่ การประชุมก็จัดขึ้นที่ปอเนาะแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียด้วย