ขุดบ่อจิ๋ว985ล.โคราชปัญหาเพียบ! สตง.สุ่มพบเก็บน้ำใช้ปย.ไม่ได้ตลอดปี
สตง.สุ่มตรวจโครงการขุดบ่อจิ๋ว 985 ล้าน โคราช ปัญหาเพียบ! เกษตรกร เข้าร่วม 201 ราย เก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตลอดปี กว่า 132 ราย จนท.ไม่ได้สำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง แถมให้บุคคลอื่นเก็บเงินสมทบแทน จี้ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง ทำรัฐเสียหาย ดำเนินการทางละเมิดผู้เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน (บ่อจิ๋ว)สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสถานีพัฒนาที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบจำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์และสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการฯ ช่วงปีงบประมาณ 2549 – 2558 ขุดสระน้ำไปแล้วจำนวน 64,445 บ่อ เป็นเงินจำนวน 985.06 ล้านบาท
โดยจากการสุ่มสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์ของสระน้ำของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในปีงบประมาณ 2557–2558 จำนวน 74 ราย พบว่า เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสระน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จำนวน 48 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.86 ของจำนวนที่สุ่มสังเกตการณ์ และจากการสอบถามเกษตรกรเจ้าของสระน้ำจำนวน 201 ราย เก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตลอดปี จำนวน 132 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.67
ขณะที่การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ คู่มือการดำเนินโครงการ และแนวทางที่กำหนด อาทิ การสำรวจและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มีความต้องการสระน้ำ เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง ทำให้เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการบางรายอาจไม่มีความต้องการที่จะขุดสระน้ำ และมีการเปลี่ยนรายชื่อเกษตรกร ที่ได้รับอนุมัติขุดสระน้ำจำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ 2557–2558 สถานีพัฒนาที่ดินฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย จำนวน 18,090 ราย และมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อเกษตรกรที่ไม่ได้รับการขุดสระ จำนวน 6,753 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.33 ของเกษตรกรที่มีรายชื่อได้รับการขุดสระตามเป้าหมาย ส่วนการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย พบว่า การคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการกล่าว คือ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ราบต่ำ ขาดประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ พื้นที่เป็นดินทราย พื้นที่เกลือขึ้นเป็นดินเค็ม พื้นที่ซึ่งมีก้อนหินขนาดใหญ่ คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือขนาดพื้นที่ขุดสระน้ำมีไม่เพียงพอตามเงื่อนไขของโครงการ
นอกจากนี้ การเก็บเงินสมทบจากเกษตรกร ซึ่งโครงการกำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ พบว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินของสถานีพัฒนาที่ดินฯ ไม่ได้จัดเก็บเงินสมทบจากเกษตรกรด้วยตนเองทุกราย โดยเกษตรกรได้จ่ายเงินสมทบให้กับบุคคลอื่น ได้แก่ ผู้รับจ้าง จำนวน 158 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.60 และจ่ายให้หมอดินอาสา จำนวน 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.92 หรือผู้นำชุมชน จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.48 และเกษตรกรไม่ได้รับ ใบเสร็จรับเงินจากเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินแต่อย่างใด คิดเป็นร้อยละ 100
ส่วนรูปแบบของสระน้ำตามคู่มือการดำเนินงานโครงการฯ มีขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร มีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ รูปตัว I และรูปตัว L ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยได้รับคำแนะนำจากหมอดินอาสา และช่างควบคุมงานที่ แต่เกษตรกรไม่ได้รับคำแนะนำอะไร เมื่อจะดำเนินการขุดสระน้ำ ผู้รับจ้างจะเป็นผู้พิจารณาจากสภาพและขนาดพื้นที่ของเกษตรกรที่จะขุด
เบื้องต้น สตง.ได้แจ้งให้อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พิจารณาทบทวนปรับปรุงรายละเอียดโครงการให้เหมาะสม รอบคอบชัดเจน ส่วนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 เห็นควรให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายกรณีไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมาย กรณีไม่ได้นำเงินสมทบดังกล่าวนำฝากธนาคารตามระเบียบการเก็บ รักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2520 และช่างควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจงานจ้าง กรณีไม่ได้ตรวจหรือควบคุมงานหรือตรวจรับงานจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกษตรกรหรือพื้นที่ขุดสระน้ำหลังจากทำสัญญาจ้าง หากพบว่าการดำเนินการดังกล่าวทำให้ราชการเกิดความเสียหาย ให้ดำเนินการทางละเมิดหรือดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ทั่วประเทศแล้ว จำนวน 20,000 บ่อ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นหมดแล้ว โดยในปี 2560 จะของบประมาณเพิ่ม เป็น 44,000 บ่อ