มูลนิธิเมาไม่ขับ หนุนติดกล้องหน้ารถ คุมพฤติกรรมคนขับ เชื่อสังคมปลอดภัยขึ้น
นพ.แท้จริง ชี้คสช.ใช้ม.44 เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจร หวั่นปฏิบัติตามช่วงแรก แผ่วปลาย พร้อมหนุนติดกล้องหน้ารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพิ่มความปลอดภัย ใช้โซเชียลมีเดีย แทนสายตรวจ
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณี คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรื่อง มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจร ที่เริ่มบังคับใช้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องการบังคับรัดเข็มขัดนิรภัย จอดในที่ห้ามจอด และการเสียค่าปรับเมื่อถูกใบสั่งจราจรว่า การบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยที่ผ่านมาล้มเหลว ไม่ว่าออกกฎหมายอะไรก็ล้มเหลว ประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีหมดทุกอย่าง เช่น กฎหมายเมาไม่ขับ กฎหมายให้ใส่หมวกกันน็อค และกฎหมายว่าด้วยการจำกัดความเร็ว แต่สิ่งเหล่านี้บังคับใช้ไม่ได้ แม้ว่า การออกกฎหมายจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นมองว่า ยากกว่า
นพ.แท้จริง กล่าวถึงกฎหมายที่ให้มีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง แต่ก่อนบังคับเฉพาะคนข้างหน้า รวมทั้งสวมหมวกกันน็อคนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่ ซึ่งการสวมหมวกกันน็อคนิรภัยที่เป็นเรื่องง่ายๆ ก็ไม่มีใครสวม นับวันก็หายไปหมด
"หากให้นำกฎหมายของบ้านเราที่มีอยู่ตอนนี้มาใช้ให้เป็น และใช้ให้เต็มที่จะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ ผมมองว่า การออกกฎหมายแต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าออกกฎหมาย หรือไม่ออก แต่อยู่ที่การบังคับใช้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่ผ่านมาก็มีข้ออ้างต่างๆ เกิดขึ้น"
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวอีกว่า แค่เรื่องหมวกกันน็อค คนขับขี่ก็ไม่ใส่ เพราะไม่มีการจับ ซึ่งบ้านเราเมื่อออกฎหมายใหม่ๆ มาจะปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดช่วงแรกๆ ซึ่งไม่ต่างจาก ม.44 ที่คสช.ออกมา หากบังคับได้ตามเจตนารมณ์เชื่อช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ แต่ถ้าออกกฎหมายแล้วทำอะไรไม่ได้อุบัติเหตุไม่ลดลง และยังทำให้ตัวกฎหมายเป็นเพียงกระดาษและคำพูดที่ไม่มีฤทธิ์อะไร
"สิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมาย เพราะผู้กระทำผิดไม่โดนจับ ทำให้ประชาชนมองกฎหมายเป็นแค่เรื่องธรรมดา" นพ.แท้จริง กล่าว พร้อมกับเปรียบเทียบให้เห็นว่า หากประเทศไหน โจรไปปล้นหรือไปฆ่าข่มขืนแล้วไม่โดนจับ ประเทศนั้นก็จะเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย เรื่องนี้ประเทศไทยทำได้ดี แต่ถ้าถามถึงบนท้องถนน ทำผิดแล้วโดนจับหรือไม่ ก็ไม่โดน ถามว่าประชาชนกลัวหรือไม่ ก็ไม่กลัว นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่กลัวกฎหมาย
ทั้งนี้ นพ.แท้จริง กล่าวถึงการรณรงค์ให้ติดกล้องหน้ารถด้วยว่า การติดกล้องหน้ารถจะเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของคนขับรถ โดยโซเชียลมีเดีย ไม่ได้ใช้สายตำรวจ ตำรวจที่รอดเพราะเขามีเงิน พรรคพวก และมีเส้นมีสาย แต่ถ้าทำผิดแล้วเอาขึ้นโซเชียลมีเดีย คุณก็เหมือนตายทั้งเป็น และการมีกล้องติดหน้ารถสังคมจะปลอดภัยมากขึ้น ทั้งในเรื่องอาชญากรรม รถติด และการก่อการร้าย จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการติดกล้องหน้ารถ
"ตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและสงเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ได้ออกมาทำการสนับสนุนการติดกล้องหน้ารถ โดยใครที่มีประกันให้ไปติดกล้อง และสามารถลดค่าประกันได้"