อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อจว.ตรังฝ่าฝืนประกาศ คสช.ตั้งอัยการช่วยงานศูนย์ดำรงธรรม?
"...ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอํานาจสั่งการ บังคับบัญชา กํากับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการในสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดและข้าราชการในสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจําจังหวัด..."
"สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ หรือสั่งการใดๆ ต่อข้าราชการฝ่ายอัยการ"
คือ คำยืนยันของ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ทำหนังสือแจ้งตอบกลับ อธิบดีอัยการภาค 9 เพื่อตอบข้อหารือกรณีมีคำสั่งจังหวัดตรัง ที่ 2706/2559 ลงวันที่ 28 ก.ย.2559 แต่งตั้งอัยการจังหวัดตรัง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง และอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง เป็นที่ปรึกษา และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังไปปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง เป็นประจำทุกวันพุธ และคำสั่งจังหวัดตรัง 2786/2559 ลงวันที่ 4 ต.ค.2559 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรี ในสำนักงานอัยการจังหวัดตรัง สำนักงานอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง ซึ่งสำนักอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ ออกคำสั่งให้ข้าราชการฝ่ายอัยการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
โดยสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ หรือสั่งการใดๆ ต่อข้าราชการฝ่ายอัยการ ทั้งนี้ โดยผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 255 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 7 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 57 (4) ดังนั้น การออกคำสั่งให้อัยการจังหวัดตรัง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง และอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังเป็นที่ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังไปปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง จึงเป็นการกระทำในทางปกครองของจังหวัด มิใช่เป็นการให้คำปรึกษาในฐานะเป็นกรรมการจังหวัด ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 53 อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังอาจนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจฟ้องร้องจังหวัดเป็นคดีปกครอง โดยพนักงานอัยการต้องเป็นผู้แทนแก้ต่างคดีให้จังหวัด ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระและเที่ยงธรรมของพนักงานอัยการได้ รวมทั้งไม่อาจออกคำสั่งให้มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการฝ่ายอัยการ
ข้าราชการฝ่ายอัยการจึงไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะขัดกับงานในหน้าที่ พนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องจึงชอบที่จะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อปรับปรุงแก้ไขคำสั่งจังหวัดตรังในประเด็นดังกล่าวให้เหมาะสมต่อไป
(อ่านประกอบ : อสส.ยันชัดผู้ว่าฯไม่มีอำนาจสั่งอัยการ! หลังแต่งตั้งให้ช่วยงานศูนย์ดำรงธรรม)
แต่สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไม จังหวัดตรัง ต้องออกคำสั่งจังหวัด 2 ฉบับ ดังกล่าวด้วย
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจรงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยออกประกาศ ฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดํารงธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัดและให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและประชาชนได้รับความพึงพอใจ
โดยระบุ ขั้นตอนการดำเนินงานและขอบเขตอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ไว้ดังนี้
ข้อ 1 ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ดํารงธรรมขึ้นในจังหวัดเพื่อทําหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คําปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชนและทําหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร โดยประกาศให้ประชาชนทราบ
ข้อ 2 ให้ทุกกระทรวง กรม ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนการดําเนินการของศูนย์ดํารงธรรมทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร ให้สามารถบริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ข้อ 3 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และวางแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์ดํารงธรรม
ข้อ 4 ให้สํานักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการดําเนินงานของศูนย์ดํารงธรรมและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
ข้อ 5 ในกรณีที่จําเป็นจะต้องดําเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ดํารงธรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาลการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทําลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์การคุ้มครองป้องกันหรือช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความเป็นธรรม และการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมตามนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอํานาจสั่งการ บังคับบัญชา กํากับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการในสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดและข้าราชการในสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจําจังหวัด
ข้อ 6 ให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่กํากับดูแลและอํานวยการให้การบริหารงานของศูนย์ดํารงธรรมและการบริหารงานของจังหวัดดําเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(ดูประกาศฉบับเต็มที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/138/8.PDF)
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อกำหนดขอบเขตอำนาจของผู้ว่าฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม ที่ระบุไว้ในข้อที่ 5 ซึ่งมีการระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอํานาจสั่งการ บังคับบัญชา กํากับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการในสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดและข้าราชการในสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจําจังหวัด
ชี้ให้เห็นว่า ผู้ว่าฯ จว.ตรัง ไม่มีอำนาจที่จะแต่งตั้งให้ข้าราชการอัยการ เข้าไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ในศูนย์ดำรงธรรม และกำกับดูแลการปฏิบัติราชการได้ อย่างชัดเจน
คำถามที่น่าสนใจ คือ จังหวัดตรัง ไม่ทราบข้อกำหนดที่ระบุไว้ในประกาศ คสช.ฉบับนี้หรือเลย? หรือถ้าทราบแล้วยังทำ อะไรคือเหตุผลจำเป็นถึงขนาดต้องกระทำการอะไรนอกเหนือประกาศ คสช.ลักษณะนี้ด้วย
และที่สำคัญการไม่ปฏิบัติตามประกาศ คสช.ลักษณะนี้ จะมีผลเกิดขึ้นอย่างไรกับทางจังหวัดตรัง รวมถึงผู้ว่าฯ ตรัง จากกรณีนี้?
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 24 มี.ค.2560 ได้พยายามติดต่อไปยัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามผู้ว่าฯ ได้รับเรื่องไว้ พร้อมระบุว่า จะนำเรื่องเรียนผู้ว่าฯ ให้รับทราบ และจะติดต่อประสานงานกลับมาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : ไม่เจตนามีอำนาจเหนืออัยการ! ผู้ว่าฯตรัง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งช่วยงานศูนย์ดำรงธรรมทันที)