คำตอบจาก อสส.กรณีห้ามอัยการอาวุโสดำรงตำแหน่ง ก.อ.
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org บทความ “คำตอบจาก อสส.กรณีห้ามอัยการอาวุโสดำรงตำแหน่ง ก.อ.” เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ จาก สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2560 กล่าวถึง กรณี สำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่... ) พ.ศ....
ตามที่สื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามและเสนอข่าวการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฉบับที่... พ.ศ.... ของสำนักงานอัยการสูงสุดในประเด็นกำหนดให้ข้าราชการอัยการซึ่งมีอายุครบ 65 ปี ในปีงบประมาณใดให้พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ เมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น และให้ไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส และประเด็นมิให้ข้าราชการอัยการซึ่งดำรงตำแหน่ง อัยการอาวุโสมีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.อ. ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดจึงขอชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ดังต่อไปนี้
1. การกำหนดให้ข้าราชการอัยการซึ่งมีอายุครบ 65 ปี ในปีงบประมาณใดให้พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ เมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น และให้ไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส
สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า หลักการในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ที่กำหนดให้ข้าราชการอัยการพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารเมื่ออายุครบ 65 ปี นั้นเป็นหลักการเดียวกันกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
การเสนอร่างกฏหมายดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นว่าหลักการเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งบริหารของข้าราชการอัยการเช่นเดียวกับการพ้นจากตำแหน่งบริหารของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะมีมาตรฐานของบุคลากรเช่นเดียวกันและเคียงคู่กันมาอย่างยาวนานโดยการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติการเข้าสู่ตำแหน่ง เช่น การมีวุฒิการศึกษา การมีประสบการณ์ การกำหนดอายุ ของผู้ที่จะสมัครสอบเพื่อเป็นข้าราชการอัยการ ได้กำหนดเหมือนกันกับผู้ที่จะสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เป็นต้น และขอชี้แจงว่าในการเสนอร่างกฎหมายของศาลยุติธรรมในประเด็นนี้ก็ได้เสนอไว้ในร่างพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส (ฉบับที่...) พ.ศ. ....... โดย กำหนดให้ข้าราชการตุลาการที่มีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณใดพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปีงบประมาณนั้นและให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส (มาตรา 6/1 เพิ่มเติม)
การเสนอหลักการในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนอกจากเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามร่างกฎหมายของสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุดในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และผลประโยชน์จะตกแก่ประชาชนยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แต่อาจทำให้ข้าราชการอัยการส่วนหนึ่งเห็นว่าต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ข้าราชการอัยการดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 70 ปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงข้าราชการประเภทอื่น ๆ ซึ่งเกษียณอายุราชการ อายุ 60 ปีแล้ว การเสนอแก้ไขกฎหมายให้ข้าราชการอัยการพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารเมื่ออายุครบ 65 ปี จึงสอดคล้องหลักการดำรงตำแหน่งบริหารของข้าราชการทั่วไปด้วย และสำนักงานอัยการสูงสุดยังได้ตระหนักถึงความสำคัญตามเจตนารมณ์ในการให้มีอัยการอาวุโสเพื่อการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ได้บ่มเพาะมาเป็นเวลานานได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ข้าราชการอัยการรุ่นหลังต่อ ๆ ไป อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีไปจนกว่าอัยการอาวุโสนั้นจะเกษียณเมื่ออายุ 70 ปี
2. การมิให้ข้าราชการอัยการซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสมีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.อ.
การเสนอหลักการนี้ในร่างพระราชบัญญัติ ก็เป็นการกำหนดให้เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันกับศาลยุติธรรม โดยศาลยุติธรรมได้กำหนดหลักการนี้ไว้ในพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์และการแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งอาวุโส พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้พิพากษาอาวุโสไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กต."
เหตุผลสำคัญที่กำหนดมิให้อัยการอาวุโส ดำรงตำแหน่งกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.อ. ก็เนื่องจากว่าอัยการอาวุโสเป็นตำแหน่งที่ไม่ใช่ผู้บริหารในสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการอัยการ (ก.อ.) ถือเป็นตำแหน่งบริหาร เพราะสามารถแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษข้าราชการอัยการได้ ซึ่งตำแหน่งการบริหารหลักๆในสำนักงานอัยการสูงสุดได้แก่ อัยการจังหวัด อัยการพิเศษฝ่ายรองอธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการ ผู้ตรวจการอัยการ รองอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด โดยอัยการอาวุโสซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร ดังนั้น การจะให้อัยการอาวุโสมาดำรงตำแหน่งกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษข้าราชการอัยการ อีกทั้ง อัยการอาวุโสไม่ได้อยู่ในฐานะข้าราชการอัยการชั้น 6 การจะให้มาดำรงตำแหน่งกรรมการอัยการด้วยจึงไม่น่าจะถูกต้อง และหลักการนี้ศาลยุติธรรมได้กำหนดหลักการและแนวทางไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 แล้ว
3. ประเด็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยไม่ฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่นำเสนอเข้าคณะกรรมการอัยการเพื่อพิจารณาก่อน
สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่าแม้ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายให้เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าคณะกรรมการ ก.อ. เพื่อพิจารณาก่อน รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ตามความเป็นจริงแล้วก่อนจะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คณะผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งประกอบด้วย อัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดทุกท่าน ซึ่งได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายก่อนจะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อคณะรัฐมนตรีและหลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดได้ประชาสัมพันธ์การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทางข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดมาโดยลำดับ
จึงชี้แจงมาเพื่อทราบ
สำนักงานอัยการสูงสุด
23 มีนาคม 2560
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก welovethaiking.com