อาเซียน...บทบาทสื่อในฐานะ"ผู้นำสาร" และทักษะที่หล่นหายของการใช้ภาษามลายู
ต้องบอกว่าคึกคักอย่างยิ่ง...สำหรับกระแสการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ที่ชายแดนใต้ มีการจัดเวทีเสวนากันถี่ยิบ และล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นวงเสวนาเกี่ยวกับบทบาทสื่อ ซึ่งมีความสำคัญอย่างสูงในการส่งผ่านองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน
หัวข้อหลักของการเสวนาคือ "บทบาทของสื่อมวลชนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้" มี อาจารย์มัสลัน มาหามะ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอิสลามศึกษา รศ.ดร.อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้ เป็นวิทยากร งานนี้จัดโดยกองวิทยุกระจายเสียง กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ.ที่โรงแรมบีพี แกรนด์ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีสื่อมวลชนทุกแขนงราว 80 ชีวิตจากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมงาน
บทบาทสื่อกับ "อิสลามสายกลาง"
รศ.ดร.อิบราเฮ็ม กล่าวถึงบทบาทสื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า สื่อมีหน้าที่รายงานข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ฉะนั้นทุกครั้งที่เขียนข่าวในลักษณะการสร้างความเข้าใจแก่สังคม ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง การนำเสนอประเด็นอิสลามสายกลาง ซึ่งความเป็นจริงความเป็นสายกลางคือความพยายามไม่ให้เกิดความสุดโต่งของมุสลิมที่มีความคิดหลากหลาย แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารด้านเดียวทำให้สังคมตีความหมายของอิสลามสายกลางว่าเป็นพวกแปลกแยก
"สื่อมักจะเลือกอธิบายอิสลามสายกลางในภาพความเป็นสากล ไม่ยึดติดหลักการศาสนา ทั้งที่อิสลามคือศาสนาที่มุสลิมทุกคนยึดมั่นในหลักการอย่างเคร่งครัด หากมีผู้ที่แหวกแนวจากหลักการนี้ต้องเข้าหาจุดกลางของหลักการ และอธิบายสิ่งที่กำลังหลงทางว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร นี่คือสายกลางในความหมายที่สื่อควรจะสร้างความเข้าใจต่อสังคมมากกว่าอธิบายว่าสายกลางคือความเป็นสากล"
"สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมุสลิมมากที่สุด ฉะนั้นบทบาทของสื่อมวลชนต้องใช้จิตวิญญาณความเป็นสื่อเข้าไปมีบทบาท อธิบายให้สังคมเข้าใจให้ถูกต้องได้ว่า อิสลามที่แท้จริงสอนให้คนคิดอย่างไร หลักคิดของอิสลามไม่ได้เป็นภัยอย่างที่สังคมใหญ่เข้าใจ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมากที่สุด" รศ.ดร.อิบราเฮ็ม กล่าว
สื่อต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง
ดร.วิสุทธิ์ กล่าวว่า บทบาทสื่อถือเป็นฟัรดูอีน (สิ่งบังคับ ไม่ทำไม่ได้) ที่ต้องนำเสนอความถูกต้องและความจริงที่ไม่เพียงเพื่อขายข่าวให้เกิดความสนใจในหน้าสื่อเท่านั้นเหมือนที่สื่อกระแสหลักทำอยู่ทุกวันนี้ แต่ควรสร้างวัฒนธรรมการเผยแพร่สิ่งดีๆ ออกสู่สังคม ฉะนั้นสื่อจึงต้องเข้าใจตนเอง และมีความรู้ในระบบวิถีและองค์รวมของอิสลาม ถ้าองค์ความรู้ที่มียังรู้ไม่หมด ก็ต้องเชิญผู้รู้มาให้ความรู้
ส่วนประเด็นการนำเสนอ ต้องเสนอเรื่องที่สามารถปกป้องสิทธิของประชาชนได้ เพราะท้ายสุดต้องนำบทเรียนที่เลวร้ายในอดีตมาเผยแพร่ เน้นการจัดการความรู้และการศึกษาแบบบูรณาการ อย่าไปจัดการศึกษาแบบแยกส่วน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดปัญหายุ่งยากตามมา
"ผู้นำข่าว" กับ "ผู้สื่อข่าว"
ขณะที่ อาจารย์มัสลัน เสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า การทำหน้าที่สื่ออย่างสมบูรณ์ต้องมีแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง จริงๆ แล้วตามหลักของอิสลาม ผู้สื่อข่าวหรือผู้ประกาศข่าวถือเป็นภารกิจของท่านศาสดามูฮัมหมัด เพราะท่านก็เป็นผู้นำข่าว ท่านไม่สามารถแอบอ้างความคิดส่วนตนในการนำไปเผยแพร่ให้กับประชาชาติได้ ท่านสื่อสารเฉพาะสิ่งที่ได้รับมอบหมายจากอัลลอฮ์เท่านั้น
"ฉะนั้นผู้สื่อข่าวกับผู้นำข่าว หากนำมาประยุกต์ใช้โดยยึดเอาคุณสมบัติของท่านศาสดาที่เรารับรู้มาในเบื้องต้น ผมว่าข่าวที่ถูกนำเสนอในวันนี้คงจะมีข้อเท็จจริงมากกว่าที่เป็นอยู่"
"สื่อกระแสหลักของประเทศมาเลเซียมีความหลากหลาย ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะมาเลเซียยอมรับความหลากหลายของชาติพันธุ์ ฉะนั้นวิธีการปฏิบัติต่างๆ รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนตลอดเวลา มีการสนับสนุนเวทีของกลุ่มคนที่ไม่ใช่มุสลิมให้สามารถถ่ายทอดแนวคิดต่างๆ แต่เมื่อมองย้อนกลับมายังสื่อในพื้นที่บ้านเรา ถามว่าอะไรเกิดขึ้น ต้องโทษตัวเองมากกว่าโทษคนอื่นใช่หรือไม่ ส่วนปัจจัยภายนอกด้านความหวาดระแวงก็ต้องยอมรับ เช่น ด้านภาษา การสื่อสาร การเขียน การอ่านที่ต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ฉะนั้นจึงคิดว่าปัญหาเหล่านี้มีผลพอสมควร ประกอบกับความเจริญงอกงามด้านภาษาที่ถูกกดทับไป"
ห่วงทักษะภาษามลายูขาดหาย
อาจารย์มัสลัน กล่าวต่อว่า แม้วันนี้กระแสประชาคมอาเซียนจะเปิดโอกาสให้กับการใช้ภาษามลายูในสังคมสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น แต่ทักษะการใช้ภาษามลายูได้ขาดหายไปแล้ว รากศัพท์ทางภาษาป่นปี้หมด จึงถือเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับสื่อมวลชนเอง เพราะปัจจุบันนักจัดรายการวิทยุในภาคภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาในการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งภาษาและเทคนิค
ยกตัวอย่างเช่น สื่อวิทยุบางคนเปิดเพลงพร้อมตอบปัญหาทางศาสนา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันชัดเจน ส่วนภาษามลายูที่ได้ยินบ่อยครั้ง ผู้จัดจะใช้ภาษาไทยและมลายูปนกันในหนึ่งประโยค จริงๆ แล้วต้องพูดภาษาเดียวให้จบประโยคถึงจะถูก และที่แย่กว่านั้นมีการใช้ศัพท์ผิดๆ ต่อหลักภาษามลายูมาสื่อสารผ่านวิทยุ
"มีครั้งหนึ่งที่ผมฟังผู้จัดรายการวิทยุกำลังจะกล่าวจบรายการและกล่าวลา โดยใช้คำว่า Selamat Pertinggal ซึ่งคำนี้จะใช้ในการกล่าวให้พรการตายของมุสลิมให้ไปสู่ความโปรดปรานของพระเจ้า ไม่ใช่กล่าวลาในแต่ละวันอย่างนี้ เพื่อนชาวมาเลเซียของผมมาฟังก็รู้สึกตกใจในการใช้ภาษาของนักจัดรายการวิทยุว่าทำไมถึงเพี้ยนได้ขนาดนี้ ฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต้องย้อนกลับมามองตัวเอง อย่าไปโทษปัจจัยภายนอก เพราะคนที่โทษปัจจัยภายนอกจะไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงตนเอง"
ส่วนประเด็นด้านการศึกษา อาจารย์มัสลัน เสนอว่า สื่อที่เป็นวิทยุและสื่อกระแสหลักต่างๆ สามารถมีส่วนพัฒนาเรื่องของการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้มาก
มยกตัวอย่างการนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เช่น สื่อกระแสหลักของประเทศมาเลเซีย ประโคมข่าวนักเรียนที่สามารถเรียนได้เกรด 9 A ซึ่งการที่เด็กได้เกรด 9 A ถือว่าเป็นเด็กที่เก่งมาก และไม่ว่าเด็กที่ไหนสามารถเรียนได้เกรด 9 A จะมีการนำเสนอข่าวเป็นสัปดาห์ จุดนี้ทำให้ประเทศมาเลเซียมีวัฒนธรรมส่งเสริมการศึกษาของบุตรหลานอย่างแข็งขัน
"บทบาทแบบนี้ผมคิดว่าสื่อกระแสหลักในบ้านเราควรจะคิดให้มาก และนำไปปฏิบัติตาม เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้น" อาจารย์มัสลัน ระบุ
"อาเซียน" โอกาสที่ต้องเตรียมพร้อม
ในงานเดียวกันยังมีการอภิปรายเรื่อง "ไทยกับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558" โดย นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิการบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศด้วย
นายเจษฎา กล่าวว่า การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน หากมองในภาพรวมถือเป็นโอกาสมหาศาลที่เราจะสามารถเปิดตลาดการค้า ตลาดแรงงาน เงินทุน และการบริการด้านต่างๆ ให้ใหญ่ขึ้น แต่ขณะเดียวกัน นอกจากคนของประเทศไทยจะออกไปสู่ตลาดอาเซียนได้แล้ว คนของอาเซียนจากประเทศอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาในตลาดประเทศไทยได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมว่าทำอย่างไรจึงจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"แน่นอนว่ามันจะต้องมีกรอบความคิดแบบใหม่ตามมา เราจะก้าวไปในรูปแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะหลังจากนี้อาเซียนรวมตัวกันเป็นชุมชนเดียวกัน บริบทต่างๆ ในการทำธุรกิจ การดำเนินชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไป ดังนั้นไม่ว่าสื่อหรือประชาชนทั่วไปก็ควรจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อเราจะได้ใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเต็มภาคภูมิ"
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (จากซ้ายไปขวา) อาจารย์มัสลัน, รศ.ดร.อิบราเฮ็ม และ ดร.วิสุทธิ์
2-4 บรรยากาศในงานสัมมนา
5 อาจารย์มัสลัน
ขอบคุณ : คุณตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการสำนักข่าวอามาน เอื้อเฟื้อภาพประกอบ