นักเศรษฐศาสตร์แรงงานชี้เกือบทุกภาคการผลิตเจอคอขวด เรื่องการผลิตคน
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ยันแม้แต่ภาคโรงแรม การท่องเที่ยว ที่มองเป็นดาวรุ่ง ก็ยังเจอคอขวดเรื่องการผลิตคน เพื่อตอบโจทย์การขยายกำลังการให้บริการ ด้านอาจารย์มหิดล ฉะผลพวงการศึกษาไทยเน้นท่องจำ ละเลยไม่ได้ปลูุกฝังทักษะอื่นๆเลย โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ ทักษะอาชีพ พบยิ่งโตยิ่งเข้าใจลดลง
วันที่ 22 มี.ค.สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ตาก) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เด็กและเยาวชน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ตอนหนึ่งในเวที ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ. กล่าวถึงการสำรวจตลาดแรงงานในกลุ่ม 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อฉายภาพให้เห็นอาชีพในอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย และแรงงานรุ่นใหม่ พบว่า เกือบทุกภาคการผลิตเจอคอขวดเกือบหมด นั่นก็คือ เรื่องการผลิตคน เช่น ภาคโรงแรม การท่องเที่ยว ที่เรามองว่าเป็นดาวรุ่ง ก็เจอคอขวดเรื่องการผลิตคน เพื่อตอบโจทย์การขยายกำลังการให้บริการ เช่นเดียวกัน
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงการจะสร้างพระเอกให้กับประเทศไทย จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องกำลังคนให้ได้ก่อน พร้อมกับเชื่อว่า การจัดการศึกษาระดับพื้นที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ "หากเราตัดเสื้อ 1 ตัวให้ทุกจังหวัดผลิตคนไอซีที ผลิตคนป้อนภาคโรงแรม สุขภาพความงาม ธนาคาร โลจิสติกส์ แล้วให้โรงเรียน หรือการศึกษาระดับอาชีวะต้องวิ่งไปในทางเดียวกัน ถามว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ยังมีภาคการเกษตรเป็นหลักอยู่ จะทำอย่างไร นี่คือข้อมูลยืนยัน การจัดการศึกษาแบบเอานโยบายชาติเป็นหลัก แม้จะถูกต้อง แต่เมื่อลงไปพื้นที่ เราต้องมีภาพพื้นที่ด้วยว่า แต่ละพื้นที่ดาวรุ่งคืออะไร แล้วนำมาขับเคลื่อนภาคการศึกษา จัดการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นที่"
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ใช่จังหวัด หากเราทำจากจังหวัดให้ดีขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยจะดีขึ้นเอง แต่หากเราทำให้ประเทศดีก่อน ก็จะพบว่า แต่ละจังหวัดจะได้ผลประโยชน์ไม่เท่ากัน อย่างที่เรากำลังเจอ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง ความไม่เท่าเทียม วันนี้กำลังแรงงานในภาคการเกษตรลดลงทุกปี โดยพบว่า คนอายุน้อยกลับไปเพิ่มนอกภาคการเกษตร โดยเฉพาะ 5 จังหวัด เชียงใหม่ กรุงเทพ นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี นี่คือการไหลของคน
ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ. กล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนในอนาคต จะไม่ใช่การทำหลักสูตร หรือฝึกอาชีพด้วยตัวเอง แต่ต้องช่วยให้เด็กเรียนรู้ โดยสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ภายในจังหวัด ซึ่งก็คือโมเดลประชารัฐ
"จากการวิจัยตลาดแรงงาน พบว่า ผู้ประกอบการ 3 ใน 4 ยินดีเข้าช่วยเรื่องจัดการการเรียนรู้ ทั้งเป็นวิทยากร ให้สถานที่ฝึกงาน ให้วัตถุดิบ เป็นกรรมการแต่ละหลักสูตร ซึ่งภาคการศึกษาไทยหลายแห่งเริ่มปรับบ้างแล้ว เชื่อว่า อนาคตโรงเรียนจะเป็นแค่จุดนัดพบขององค์ความรู้ จุดศูนย์รวมนิเวศน์ของการเรียนรู้โดยโรงเรียนดึงเอาผู้เกี่ยวข้องส่วนต่างๆ เข้ามาจัดการการเรียนรู้ให้กับเด็ก เพื่อตอบโจทย์ภายในจังหวัด"
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวด้วยว่า บทเรียนและทิศทางการเปลี่ยนแปลง อนาคตการจัดการศึกษาจะหมดยุคของครู แต่เข้าสู่ทีมจัดการการเรียนรู้ เมื่อก่อนเราเชื่อแนวคิดอัศวินม้าขาว ครูคนเดียวสามารถสอนเด็ก 40 คน ให้มีชีวิตที่ดีได้ ซึ่งเหมาะกับโลกยุค 2.0 โลกยุค 3.0 แต่โลกยุค 4.0 ความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงต้องเปลี่ยนจากครู เป็นทีมจัดการเรียนรู้ ครูจะไม่ใช่แค่สอน แต่จะเป็นคนสร้างทีมแห่งการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเดินสู่โลกสมัยใหม่ได้
" โลกยุคใหม่เราจะไม่สามารถสอนจากหนังสือได้ เพราะสิ่งที่อยู่ในหนังสือกำลังถูกทำลายลง ฉะนั้นการยึดอยู่กับตำราจึงไม่ใช่ทางออกสำหรับเด็กไทยอีกต่อไปแล้ว การสอนกระบวนการคิด กระบวนการหาข้อมูล สำคัญกว่า รวมถึงเอาความต้องการตลาดแรงงานของพื้นที่เป็นตัวตั้ง"
ด้านศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีด้านการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการดำเนินงาน “การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา” โดยพบข้อมูลที่น่าสนว่า ในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาจะมีทักษะชีวิต มีอิสระทางความคิด มีเข้าใจในเรื่องของครอบครัว เรื่องของการใช้เงิน แต่ความเข้าใจตรงนี้จะเริ่มลดลงไปเมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำ
“ระบบการศึกษาของเราใส่เนื้อหาในลักษณะของการท่องจำเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะเราไปสอนเขาให้เขาจำในเนื้อหาสาระ แต่ไม่ได้บอกว่าชีวิตจริงนั้นมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และถึงแม้ว่าเราจะมีการสอนในเรื่องของการงานอาชีพอยู่ในหลักสูตรแกนกลาง แต่การจัดการเรียนการสอนนั้นยังเป็นไปแบบการขาดความเข้าใจที่แท้จริงในปลูกฝังทักษะวิชาชีพเข้าไป ทำให้ไม่สามารถสร้างให้เกิดการต่อยอดทางความคิดได้"
ศ.ดร.สุมาลี กล่าวว่า การที่เด็กไทยยังเรียนรู้แบบท่องจำ โดยที่เราไม่ได้ปลูุกฝังทักษะอื่นๆเลย โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ ผลพวงเหล่านี้ทำให้เด็กยิ่งโตยิ่งพูดน้อย ไม่กล้าพูด รวมไปถึงการตระหนักรู้เรื่องทักษะอาชีพ ก็พบว่า ยิ่งโตยิ่งเข้าใจลดลง ทั้งระดับประถม และระดับมัธยม
"หากเราต้องการให้เยาวชนไทย 1 คน เติบโตในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้ อยู่กับข้อมูลเต็มไปหมด การเรียนการสอนจำเป็นต้องเร่งกระบวนการให้เขาคิดเป็น รู้จัก การสังเกตุ กลั่นกรองข้อมูลเป็น เรียนรู้จากชีวิตจริง เรียนรู้จากอาชีพคนในชุมชน อาชีพคนในประเทศ ซึ่งวันนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ยังสอนตามตำรา ไม่ได้สอนสิ่งที่เป็นจริง จึงทำให้เด็กและเยาวชนไทยคิดไม่เป็น"