ผจก.สสส.โชว์ผลงานปี 59 สนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพกว่า 2 พันโครงการ
สสส.มีการสนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกัน โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ของ อสม. และเครือข่ายหมออนามัย เฝ้าระวัง ให้ความรู้และรณรงค์ในประชาชนในพื้นที่ ลด ละ เลิก บุหรี่ และสุรา โดยมีโครงการสำคัญคือ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน”
วันที่ 21 มี.ค.ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลง “ผลการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ ปี 2559 และก้าวต่อไปของ สสส.” ในโอกาสครบรอบการบริหารงาน 1 ปี ว่า สสส. ได้ดำเนินงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งประสานและบูรณาการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในประเด็นสุขภาพต่างๆ ของประชาชนทุกช่วงวัยร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น
ในปีงบประมาณ 2559 สสส.สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั้งสิ้น 2,401 โครงการ มีผู้รับทุนรายใหม่ 2,859 ราย/องค์กร สสส.และยังคงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสนับสนุนและผลักดันนโยบาย กฎหมาย และมาตรการสำคัญด้านการสร้างเสริมสุขภาพทั้งระดับชาติและท้องถิ่นกว่า 40 นโยบาย อาทิ
พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ที่รัฐบาลเสนอผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ออกเป็นกฎหมาย โดยผลสำรวจล่าสุดปี 2558 มีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน โดยเป็นเยาวชนและวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี มากถึง 28% กฎหมายนี้จะช่วยควบคุมการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชนได้, คำสั่ง คสช. เรื่อง มาตรการการแก้ปัญหาดื่มไม่ขับ ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ซึ่งสถิติการดื่มของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2558 อยู่ที่ 6.95 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี ลดลงจากปี 2544 อยู่ที่ 7.39 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี
และ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์การเข้าถึงการเรียนเพศศึกษาและรับสวัสดิการทางสังคมและบริการอนามัยเจริญพันธุ์อย่างทั่วถึง ซึ่ง สสส. จะร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายและนโยบายเหล่านี้กับภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดผลทางปฎิบัติต่อไป
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า ในปี 2559 สสส. มีผลการดำเนินงานสำคัญ
1. ความสำเร็จของบทบาทประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 เกิดปฎิญญากรุงเทพขึ้นเป็นหลักการดำเนินงานกิจกรรมทางกายในประชาคมโลกและในการนำเข้ารายงานต่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ส่วนงานราชการจัดกิจกรรมทางกายเป็นประจำทุกวันพุธ ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านกิจกรรมทางกายของโลก ทั้งนี้ สสส. ยังร่วมร่างแผนปฏิบัติการการมีกิจกรรมทางกาย เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 71 ในปี 2561
2. ขยายฐานผู้รับผลประโยชน์เข้าถึงองค์ความรู้การสร้างเสริมสุขภาพผ่านศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. และขยายศูนย์ฯ ภูมิภาคอีก 4 แห่ง มีประชาชนมาใช้บริการทุกช่องทางเกือบ 4 ล้านคนหรือครั้ง เพิ่มจากปีที่แล้วเกือบ 150% จากการสำรวจความพึงพอใจ ผู้ใช้บริการมีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 83.2% และสามารถนำความรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน 81%
3. พัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเด็กปฐมวัยขยายผลมากกว่า 700 แห่ง ครอบคลุมเด็กเล็กเกือบ 4 แสนคน พัฒนาหลักสูตรลูกเสือเพิ่มทักษะชีวิตในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส 118 แห่ง เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,615 แห่ง สนับสนุนการจัดการชุมชนน่าอยู่ผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชน 2,700 หมู่บ้าน องค์กรสุขภาวะ 6,611 องค์กร พื้นที่สุขภาวะกิจกรรมทางกาย 741 แห่ง จังหวัดต้นแบบปลอดบุหรี่ 32 จังหวัด และ 1 พื้นที่พิเศษ พื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 4,400 แห่ง งานบุญประเพณีปลอดเหล้า 167 งาน งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2559 มีประชาชนเข้าร่วม 12 ล้านคน งดตลอด 3 เดือน 5.8 ล้านคน ประหยัดค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 13,459 ล้านบาท
4. สร้างความเท่าเทียมทางสุขภาพ สนับสนุนและพัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการทำงานในชุมชน โดยประสานความร่วมมือภาคประชาสังคมและท้องถิ่นกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการ สร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนและสังคม ให้ความรู้ฝึกทักษะอาชีพแก่คนพิการ ส่งผลให้เกิดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเพิ่ม 16,000 คนและภาคเอกชนร่วมจ้างเพิ่มไปแล้วกว่าแปดพันตำแหน่ง สร้างรายได้ให้แก่คนพิการเพิ่มในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท
“การบริหาร สสส. ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ท้าทาย แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ผ่านบทพิสูจน์การทำงานมากมาย ทุกฝ่ายในองค์กรร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้มีความเป็นมืออาชีพในด้านการทำงานสร้างเสริมสุขภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการกองทุน การกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับผลการประเมินผลและสมรรถนะงานจากคณะกรรมการประเมินผล 4.56 คะแนน จาก 5 คะแนนเต็ม สูงกว่าปี 2558 เกือบทุกด้าน การประเมินผล ธรรมาภิบาล ได้ร้อยละ 87.8 ขณะที่การประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดย ปปท. ที่ประเมินองค์กรรัฐกว่าสองร้อยองค์กรนั้น สสส. ได้ร้อยละ 81.41 ซึ่งได้รับเกียรติบัตรจากองค์กร ที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานระดับสูง”
ดร.สุปรีดา กล่าวถึงยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. ในปี 2560 ที่ได้รับการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล ร อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัยเป็นประธาน จำนวน 15 แผน สำคัญคือ
1. ยกระดับ สสส. ให้เป็นสถาบันการเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) ศูนย์กลางการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้บทเรียนและประสบการณ์การทำงานของ สสส. กว่า 10 ปี พัฒนาเป็นองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพทั้งในนักสร้างเสริมสุขภาพชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ได้วางรากฐานและเริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าจะสำเร็จในเชิงสถาบันเต็มรูปแบบภายใน 3 ปีจากนี้
2. จัดการปัญหาบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญด้วยมาตรการทางสังคมเสริมกฏหมาย โดยเฉพาะการสนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกัน โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ของ อสม. และเครือข่ายหมออนามัย เฝ้าระวัง ให้ความรู้และรณรงค์ในประชาชนในพื้นที่ ลด ละ เลิก บุหรี่ และสุรา โดยมีโครงการสำคัญคือ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน”
3. ยังคงพัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศที่ยังเดินหน้าสืบเนื่องต่อไป ทั้งเพิ่มจำนวนและเชิงคุณภาพที่ยกระดับจากการจัดการความรู้และศูนย์เรียนรู้ต่างๆ โดยรับโจทย์ของภาคและท้องถิ่นผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนมากขึ้น