นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ชี้ศก.ไทยปี 60 เหมือนเจอวิกฤตต้มกบ
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ห่วงความเสี่ยงในปีนี้เรื่องของปัญหาภัยแล้ง ต้องจับตารุนแรงมากแค่ไหน รวมถึงรายได้เกษตกร ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล แนะไทยเบนเป้าเน้นลงทุนกลุ่มอาเซียน CLMV ชี้กลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวชูโรงและโอบอุ้มตัวเลขของธุรกิจไทยในปี 2560 ยังคงเป็นธุรกิจประเภทการบริการและการท่องเที่ยว
วันที่ 20 มี.ค. 60 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าว “เศรษฐกิจไทย 2560 : SOMTUM Crisis?!?” ณ ห้อง F232 อาคารธรรมศาสตร์ 60ปี (อาคารเอนกประสงค์ 2) ชั้น 2 ริมน้ำ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงมีการเติบโตที่ขยายตัวมากกว่าปีก่อน โดยขยายร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ นโยบายของรัฐบาลที่ใช้เม็ดเงินในการลงทุนมหาศาล ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยที่กระตุ้นเศรษฐกิจนโยบายการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการช็อปช่วยชาติที่กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค การเก็บภาษีเพิ่มในหลายกลุ่มประเภทภาษี อาจส่งผลในระยะสั้นต่อการจับจ่ายใช้สอยชองภาคครัวเรือนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวว่า มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายเงินทุนไทยไปยังต่างประเทศและจัดการความผันผวนจากการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท
“วันนี้เครื่องจักร 4 ตัว คือการบริโภค การลงทุนเอกชน การลงทุนภาครัฐ และภาคการส่งออก ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังเข้มแข็งขึ้น เครื่องจักร 4 ตัวนี้เริ่มเดินหน้า ถึงแม้การบริโภคเองอาจจะยังไม่ 100% แต่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ในส่วนของรายได้ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ดีเท่าเก่าแต่เริ่มเห็นภาพของการลงทุนของภาคเอกชน”
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ คือ รัฐบาลที่รัฐบาลพยายามทำมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในเรื่องการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน ในเรื่องของของต่างประเทศจะเห็นได้ชัดคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ปัญหาความผันผวนในยุโรปเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกของไทยโตขึ้นจากเดิมที่ติดลบมาโดยตลอดในทุกๆ ไตรมาสช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา
“ความเป็นบวกของเศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่องจักร โจทย์คือจะสามารถรักษาสภาพแบบนี้ไปได้อย่างไรบ้าง เพราะเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้เริ่มเห็นสัญญาญที่ดีขึ้น เพราะบางครอบครัวชำระหนี้ กรณีรถคันแรกเสร็จสิ้นแล้ว แต่คำถามที่เริ่มเป็นความเสี่ยงในปีนี้เรื่องของปัญหาภัยแล้งต้องจับตามองว่า ปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงมากแค่ไหน รวมทั้งต้องจับตาเรื่องรายได้ของเกษตกรซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง”
ด้าน ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผอ.ศูนย์ให้คำปรึษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มธ. กล่าวถึงสถานการณ์ในต่างประเทศที่อาจจะกระทบต่อประเทศไทย ปัจจัยแรกคือ นโยบายของประธานาธิบดีของโดนัล ทรัมป์ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในสหรัฐอเมริกา โดยการพึ่งตนเองผ่านการกระตุ้นด้วยเครื่องมือเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ การปรับอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารของสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตขึ้นภายในประเทศ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ อย่างเช่นบริษัท แอปเปิ้ล มีฐานการผลิตที่ประเทศจีนจะย้ายฐานการผลิตมาผลิตที่สหรัฐฯ ส่วนตัวคงไม่ใช่เรื่องในเร็ววันนี้
“มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าและเน้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี เพื่อรักษาอำนาจต่อรองทางการค้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อมูลค่าการส่งออกของไทยที่ลดลงตามมา เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งไปเป็นวัตถุดิบแก่จีนจะได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน่ โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งสินค้าไปเป็นสินค้าวัตถุดิบในประเทศจีนกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท สินค้าจำพวก ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และอาหารแปรรูป เป็นต้น” ดร.สุทธิกร กล่าว และว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศจีนกำลังเข้าสู่รอบการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อเลือกตำแหน่งสำคัญทางการเมืองใหม่ในไม่ช้า ซึ่งผู้นำประเทศจีนเองคงต้องการรักษาและขยายฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงสำหรับ 5 ปีข้างหน้า จีนคงไม่ต้องการที่จะใช้มาตรการตอบโต้รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนและกลับมาเป็นปัญหาเชิงลบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในโลก
ดร.สุทธิกร กล่าวต่อว่า ตอนนี้ต้องจับตาว่า ในเดือนเมษายนที่สหรัฐฯจะไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ในการหารือกับประธานาธิบดีสิจิ้นผิงว่าผลจะออกมาอย่างไร สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยจะต้องเน้นกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการค้าการลงทุนกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ไปสู่การค้าในกลุ่มประเทศขนาดเล็ก เช่น เวียดนาม ลาว อินเดีย
“ประเทศเหล่านี้จะเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลักษณะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ตอนนี้กำลังเกิดวิกฤต ต้องมานั่งคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนในเชิงนวัตกรรม การผลิต ที่ใช้บุคคลากรน้อยลง ถ้าใช้ระบบอัตโนมัติจะทำให้คนตกงานทั้งโลก การที่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานคน การศึกษาพร้อมหรือยัง ในการที่จะพัฒนาศักยภาพของแรงงานให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้นที่จะสามารถทดแทนงานที่สูญเสียไปได้หรือไม่”
ผอ.ศูนย์ให้คำปรึษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มธ. กล่าวด้วยว่า วันนี้ไม่ใช่วิกฤตต้มยำกุ้งหรือวิกฤตส้มตำ แต่เหมือนกับวิกฤตต้มกบ คือไม่ได้ใส่กบลงไปในน้ำที่กำลังเดือด เราจึงไม่รู้สึกว่า มันวิกฤต แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราจะค่อยๆตายอย่างช้าๆ เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามเศรษฐกิจโตกว่าเราเยอะ เหมือนกับรู้สึกว่าเราไม่ตายแต่เรากำลังจะตาย
ส่วน ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต้องมา 3 ขา คือ ขาการส่งออก ขานี้ตลอดปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกหลักๆที่ประเทศไทยส่งออกไปขายทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป เศรษฐกิจไม่ดีแปลว่าส่งออกไม่ดีตามไปด้วย ทำให้อุตสหกรรมไทยในช่วงปีก่อนมีการปลดพนักงานและย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ส่วนขาที่ 2 คือการบริโภคในประเทศซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาก็ไม่ดี เพราะราคาพืชผลการเกษตรราคาไม่ดี ทำให้ไม่มีเงินไปจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ส่วนขาที่ 3 การจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนกับโครงการขนาดใหญ่เยอะ โดยรัฐพยายามลงทุนอยู่เรื่อยๆ ถือว่าขานี้เป็นขาเดียวที่เดินแต่ก็ถือว่ายังไปแบบช้าๆ
ศ.วิทวัส กล่าวว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นต้องแก้ปัญหา โดยผู้ประกอบการควรขยายการลงทุนธุรกิจในแถบประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV กำลังเป็นเศรษฐกิจสูงเฉลี่ย 6-8% ต่อปี โดยที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำไทยได้พยายามมองหาทางการค้าและการลงทุนในประเทศและแถบเอเชีย สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวชูโรงและโอบอุ้มตัวเลขของธุรกิจไทยในปี 2560 ยังคงเป็นธุรกิจประเภทการบริการและการท่องเที่ยว โดยรัฐต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและนักท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดจนต้องวางรากฐานในการส่งเสริม กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2560 เป็นมูลค่ากว่า 3.6 พันล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างเม็ดเงินในการหมุนเวียนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยกลุ่มธุรกิจสตาร์อัพที่มีศีกยภาพในการเติบโตได้ในอนาคต ต้องเน้นด้านการผลิตอาหาร การเกษตกร และด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทยที่สามารถต่อยอดได้