รอการกำหนดโทษ ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนโยบาย
ผมติดตามเหตุเกิดขึ้นในไทยพีบีเอสด้วยความสนใจทั้งกรณี ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. หลังถูกวิจารณ์หนักกรณีซื้อตราสารหนี้ CPF และ คำพิพากษาศาลฎีกากรณีการปีนรัฐสภา ศาลฎีกาพิพากษาว่ามีความผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษภายในสองปี
คดีนี้มีจำเลย 10 คน มีนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสรวมอยู่ด้วย
มีความเห็นอันหลากหลายในเรื่องนี้ ผมเองก็มีความเห็นทางกฎหมายด้วยเหมือนกันที่ต้องการนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเห็น ว่าคุณไพโรจน์ ไม่ขาดคุณสมบัติ ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้
เพราะเมื่อพิจารณา เห็นว่าเหตุให้กรรมการนโยบายพ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มาตรา 24 (5)" คำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท"
เหตุที่ให้กรรมการนโยบายพ้นตำแหน่ง ตาม (5) แยกเป็น
1. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง แม้จะมีสิทธิ์อุทธรณ์. จะฎีกาได้ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง
2. คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแม้จะรอการลงโทษก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง
ส่วนข้อยกเว้นไม่พ้นจากตำแหน่งน่าจะแยกเป็น
1.คดียังไม่ถึงที่สุด โดยคู่ความอุทธรณ์ ฎีกาหรือ
2.รอการลงโทษ ความผิด 3 ความผิด คือ กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท"
ผมได้คุยกับนักกฎหมายและหาความรู้ในเรื่องนี้เข้าใจ ดังนี้
คำพิพากษาว่ารอการกำหนดโทษ ย่อมหมายถึงศาลจะดูพฤติกรรมระหว่างรอ หากไม่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเมื่อครบกำหนด ย่อมถือว่าพ้นโทษ กล่าวคือศาลจะไม่กำหนดโทษ ต่างจากการพิพากษาให้ลงโทษ แต่รอการลงโทษไว้ถ้ามีการกระทำผิดซ้ำนอกจากจะถูกจำคุกตามคำพิพากษาทันทีแล้วยังถูกดำเนินคดีเพิ่ม
แต่กรณีรอการกำหนดโทษย่อมเบากว่ารอการลงโทษเพราะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลงโทษ โดยรอว่าภายในระยะเวลากำหนดหากกระทำผิดซ้ำอีกจึงจะกำหนดโทษ
กล่าวคือศาลต้องดูจากพฤติกรรมกระทำผิดทั้งสองครั้งประกอบกัน จึงจะกำหนดโทษของการกระทำผิดครั้งแรก ดังนั้น การรอกำหนดโทษจึงเป็นผลร้ายต่อจำเลยน้อยกว่ารอการลงโทษ
ในคดีปีนสภา คำพิพากษาศาลฎีกาให้รอการกำหนดโทษคือไม่ได้ระบุเลยว่าให้ลงโทษสถานใดในโทษอาญา 5 ประการ
ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ, ริบทรัพย์
แสดงว่าผู้ที่ศาลตัดสินว่าให้รอการลงโทษ ไม่มีประวัติว่าเคยต้องคำพิพากษาให้รับโทษอาญาใดๆในโทษ 5 ประการนี้
"การรอการกำหนดโทษ" จึงไม่ใช่เหตุให้พ้นตำแหน่งจากกรรมการนโยบาย เป็นคนละเรื่องกับของกสทช. พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 7 (7) กำหนดว่า ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดใดเว้นแต่อันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษและความผิดฐานหมิ่นประมาท
ถ้าพิจารณาเหตุในการปีนบุกรัฐสภาเพื่อประท้วง สนช.ในยุคนั่น เพื่อคัดค้านการออกกฎหมาย 11 ฉบับ ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ทำเป็นการทำหน้าที่ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของทุกคนที่กำลังจะหายไปจากการออกกฎหมายของสนช.
หากพิจารณาคำพิพากษา "ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนคดีแล้ว พิพากษากลับ โดยศาลเห็นด้วยกับคำพิพากษาบางส่วนของศาลชั้นต้น ที่พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่เห็นว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรง และกระทำไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง สมควรรอการกำหนดโทษของจำเลยทั้งหมดไว้ เป็นเวลา 2 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามจำเลยชุมนุม หรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นอีก" ยิ่งชัดเจนครับ
เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไทยพีบีเอสจริง ๆ ครบ 10 ปีที่ต้องประเมินอย่างรอบด้าน ทีวีสาธารณะจะยืนอยู่อย่างไร ท้าทายอย่างยิ่ง
มีบางฝ่ายจ้องทำลาย ภายในไร้เอกภาพ บางกลุ่มรอกระทืบซ้ำ
ไทยพีบีเอสอาจมีหลายอย่างที่เราอาจไม่พอใจ แต่ถามว่าเราจำเป็นต้องรักษาไว้หรือไม่ ผมตอบแบบไม่ลังเลเลยว่าต้องรักษาสื่อสาธารณะนี้เอาไว้ อะไรผิดพลาดก็ว่ากันไป แก้ไขกันไป
ผมเห็นว่าคุณไพโรจน์ ไม่ขาดคุณสมบัติ ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้
ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
17 มีนาคม 2560