จี้รฟท.เร่งจัดการ หลังพบชานชาลา บนรถไฟ นักสูบ-พ่อค้าเร่ขายบุหรี่เพียบขัดกม.
งานวิจัยพบพ่อค้าเร่ขายบุหรี่บนรถไฟเส้นล่องใต้เยอะสุด ด้านนักสูบฝ่าฝืน ใช้พื้นที่บริเวณหน้าห้องน้ำ ประตูทางเข้า-ออก และบริเวณทางขึ้น-ลงรถไฟที่จุดข้อต่อรถไฟ เร่งรัดการรถไฟฯ ดำเนินการตามกม. เข้มงวด ขยายพื้นที่ปลอดภัยให้เห็นผลสัมฤทธิ์
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ร.ต.ท.หญิงนวลตา อาภาคัพภะกุล หัวหน้านักวิจัยในโครงการสำรวจพฤติกรรมการสูบและจำหน่ายบุหรี่บริเวณชานชาลาสถานีรถไฟและบนขบวนรถไฟในประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการวิจัยโครงการฯดังกล่าว ระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 - มกราคม 2560 พบร้านค้าบริเวณสถานี เฉพาะที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ มี 3 ร้านค้า จาก 6 ร้าน ที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยโชว์ซองบุหรี่หน้าร้าน สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ร.ต.ท.หญิงนวลตา กล่าวถึงผลการสำรวจบนขบวนรถไฟที่สำรวจ 72 ขบวน พบว่า ยังมีการขายบุหรี่บนขบวนรถอย่างเปิดเผย เฉพาะเส้นทางสายใต้ กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ส่วนขบวนอื่นๆ มีพ่อค้าเร่ฝ่าฝืนขึ้นมาขายบุหรี่พร้อมกับสินค้าประเภทเครื่องดื่ม โดยแบ่งขายบุหรี่ 3 มวน 20 บาท และขายบุหรี่ซอง ซองละ 120 บาท
"ทุกเส้นทางที่สังเกตมีการฝ่าฝืนพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ทุกขบวน ( 72 ขบวน) โดยมีผู้โดยสารแต่ละขบวนประมาณ 8-12 ตู้รถไฟ ตู้ละประมาณ 76 คน โดยมีคนสูบบุหรี่ประมาณ 10 ราย ต่อ 1 ตู้รถไฟ" ร.ต.ท.หญิงนวลตา กล่าวและว่า นักสูบเหล่านี้สูบประมาณ 6 มวน ต่อการเดินทาง 12 ชั่วโมง และลักษณะของบุหรี่มีทั้งมวนกระดาษเอง ใบจาก และบุหรี่ก้นกรอง และ บริเวณที่มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่มากที่สุดคือ หน้าห้องน้ำ ประตูทางเข้า-ออก และบริเวณขึ้นลงรถไฟที่จุดข้อต่อรถไฟ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่นักสูบชอบมาใช้เป็นที่สูบบุหรี่ซึ่งบริเวณดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของตู้โดยสาร ควันบุหรี่จะเข้าสู่ตู้โดยสารโดยตรง ผู้โดยสารที่นั่งในตู้โดยสารจึงเป็นนักสูบมือสองโดยปริยาย
ทั้งนี้ยังพบว่าในพื้นที่ตู้โดยสารรถไฟประมาณร้อยละ 70 ไม่มีประกาศหรือสติ๊กเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ และยังมีการสูบบุหรี่บริเวณชานชาลาโดยผู้สูบมีทั้งเจ้าหน้าที่และผู้มาใช้บริการ(ผู้โดยสารและญาติ)
ร.ต.ท.หญิงนวลตา กล่าวด้วยว่า ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายห้ามขาย/ห้ามสูบบุหรี่บนรถไฟและสถานีรถไฟ รวมถึงห้ามขาย/ห้ามดื่มสุราบนรถไฟและสถานีรถไฟ ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งจะส่งผลขยายพื้นที่ปลอดภัยทางสุขภาวะของประชาชน ให้ครอบคลุมถึงบนรถไฟและสถานีรถไฟ ซึ่งคาดว่า สสส.น่าจะสนับสนุนให้ทำการสำรวจประเมินผลการขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ในปลายปีนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว วัดผลสำรวจเชิงปริมาณและคุณภาพ กับกลุ่มเป้าหมาย 8 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ใช้บริการรถไฟชาวต่างประเทศ , ผู้ใช้บริการรถไฟชาวไทย , เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำขบวนรถไฟ , พนักงานรักษารถไฟ , ผู้บริหารการรถไฟระดับหัวหน้าส่วนการเดินรถ , นายสถานีรถไฟ ,รองผู้ว่าการรถไฟ และผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถไฟ รวมทั้งสิ้น 596 ราย โดยมีพื้นที่ศึกษา บริเวณ 9 สถานีรถไฟ และบนขบวนรถไฟ ได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ สถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟเชียงใหม่ สถานีรถไฟอุบลราชธานี สถานีรถไฟหนองคาย สถานีรถไฟขอนแก่น สถานีรถไฟหาดใหญ่ สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี และสถานีรถไฟธนบุรี โดยสถานีดังกล่าว เป็นสถานีหลักที่มีประชาชนมาใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ.
อ่านประกอบ
สนช.ผ่านฉลุยร่างพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฯ-มุ่งป้องกันนักสูบหน้าใหม่
จับตา มติสนช. พิจารณาร่างกม.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่
นักวิชาการเผยคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ผล เรียกร้องสนช.คงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คุมยาสูบ
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากhttp://www.tnamcot.com/