ไทยแจงยูเอ็นมีแผนเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กฎอัยการศึก" ชายแดนใต้บางพื้นที่
ช่วงนี้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนกำลังถูกจับตาพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่ตัวแทนรัฐบาล นำโดยปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย เดินทางไปนำเสนอรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
สาเหตุที่การชี้แจงและทบทวนรายงานของประเทศไทยได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื่อว่าจะถูกซักถามอย่างหนักจากทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เพราะประเทศไทยอยู่ในช่วงการปกครองของรัฐบาลจากการรัฐประหาร มีการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษหลายฉบับ และยังมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการอุ้มฆ่า อุ้มหาย และทรมานปรากฏเป็นข่าวมาตลอด
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะผู้แทนไทย ได้นำเสนอรายงาน ICCPR ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของรัฐบาล ในการประชุมวันแรกเมื่อวันที่ 14 มี.ค.60 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ให้ความสนใจและซักถามรวมแล้ว 10 ประเด็นหลักๆ คือ
1.กำหนดการบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ปรับแก้ล่าสุด 2.การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 3.การใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีกับพลเรือน โดยมีข้อแนะนำเรื่องสิทธิของจำเลย และให้โอนคดีที่เหลือไปศาลพลเรือน 4.ปัญหาการลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดละเมิดสิทธิมนุษยชน 5.การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
6.สถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ กสม. เนื่องจากถูกมองว่า กสม.ชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร 7.เสรีภาพในการรวมตัวโดยสันติ 8.ความคืบหน้าเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศและความรุนแรงต่อสตรี 9.การดูแลแรงงานต่างด้าว และ 10.กรณีการหายสาบสูญของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งก็คือ นายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ
สำหรับในการประชุมวันต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นได้ฝากคำถามเพิ่มเติมเรื่องโทษประหารชีวิตในไทย, ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่
ขั้นตอนหลังจากนี้ ภายหลังจากคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงาน ตอบข้อซักถาม และส่งคำตอบเพิ่มเติมเรียบร้อยภายใน 48 ชั่วโมง ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นจะออกเอกสารข้อเสนอแนะให้แก่ไทยและรัฐภาคี เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การนำเสนอรายงาน ICCPR และชี้แจงในส่วนของ กสม. กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้รับข้อมูลจากปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ก่อนเดินทางมาเจนีวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ดำเนินการสืบสวนคดีทนายสมชาย และคดีบิลลี่ต่อไป หลังจากที่เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ดีเอสไอได้สั่งงดการสอบสวนคดีทนายสมชาย และต่อมาก็ไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ
ทั้งนี้ ความคืบหน้าคดีทนายสมชาย และคดีบิลลี่ ถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น สอบถามในที่ประชุม โดยตัวแทนของคณะผู้แทนไทยชี้แจงว่า ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้ให้คณะกรรมการคดีพิเศษของดีเอสไอ นำคดีอุ้มหายหลายๆ คดีกลับมาพิจารณาเป็นคดีพิเศษใหม่ ทั้งคดีทนายสมชาย นายบิลลี่ และคดีอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มี.ค.60 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ก็ถอนฟ้องนักสิทธิมนุษยชน 3 คน คือ นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิน๊ะ กรณีนำเสนอรายงานการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
สำหรับประเด็นคำถามที่น่าสนใจในการประชุมทบทวนรายงานของประเทศไทย คณะกรรมการของยูเอ็นได้ถามถึงเหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตัวแทนฝ่ายความมั่นคงตอบว่ายังจำเป็นต้องใช้ เพราะยังมีสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงปรากฏอยู่ แต่คณะกรรมการฯเห็นว่าเหตุผลไม่เพียงพอ กระนั้นก็ตาม ตัวแทนรัฐบาลไทยระบุว่า รัฐบาลมีแผนผ่อนปรนและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดจนกฎอัยการศึกในบางพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่คณะผู้แทนไทยยัไงม่ได้ตอบทันที เช่น จำนวนบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย และการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต ความเท่าเทียมทางเพศ ส่วนการนำเยาวชนมาเล่นกีฬาชกมวย เป็นประเด็นที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นแสดงความกังวล เนื่องจากมีความรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กได้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนและภาพจากเฟซบุ๊ค อังคณา นีละไพจิตร (ขออนุญาตแล้ว)