สอบแค่ปมขัด ม.103! ป.ป.ช.ยัน‘ศานิตย์’ กรอกผิดรับเงินไทยเบฟไม่เข้าข่ายแจ้งบัญชีเท็จ
ป.ป.ช. เผยปม ‘ศานิตย์’ แจ้งได้รับเงินเดือน ‘ไทยเบฟ’ 5 หมื่น/เดือน ลงนามกำกับเอง ก่อนอ้างกรอกผิด อาจไม่เข้าข่ายแจ้งทรัพย์สินเท็จ แต่เป็นหน้าที่ฝ่ายปราบปราม เหลือตรวจสอบว่ารับเงินจริงหรือไม่ อาจเข้าข่ายขัด ม.103
จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยุติเรื่องร้องเรียน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กรณีแจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดือนละ 50,000 บาท ตั้งแต่ปี 2558 โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ อ้างว่า เป็นการกรอกผิด ดังนั้นจึงไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า รับเงินเดือนจากบริษัท ไทยเบฟฯ นั้น
(อ่านประกอบ : กรอกผิดฟังขึ้น! ผู้ตรวจฯยุติเรื่อง‘ศานิตย์’รับเงินไทยเบฟ เหตุไม่ปรากฏหลักฐาน)
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กรณีนี้ว่า การตรวจสอบแบ่งออกเป็นสองกรณี กรณีแรก พล.ต.ท.ศานิตย์ ยื่นเอกสารประกอบในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ แจ้งว่า รับเงินเดือนบริษัท ไทยเบฟฯ เดือนละ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปี 2558 และลงนามกำกับนั้น ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ให้อำนาจ ป.ป.ช. ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน ดังนั้นการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จะดูว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับรายได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง ถ้าช่วงเข้ารับตำแหน่งมีรายได้น้อย มีทรัพย์สินน้อย ถ้าช่วงพ้นตำแหน่งยังมีรายได้น้อยอยู่ แต่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ป.ป.ช. จะเข้าไปตรวจสอบในส่วนนั้น เป็นต้น ซึ่งกรณีของ พล.ต.ท.ศานิตย์ จะดูทรัพย์สินว่า มีความสัมพันธ์กับรายได้หรือไม่ โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน ป.ป.ช. ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบว่า มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จแต่อย่างใด
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สอง จะดูว่า หากปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ รับเงินดังกล่าวจริง อาจเข้าข่ายขัดกับมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปราบปราม ป.ป.ช. ที่จะต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ตกลงแล้ว พล.ต.ท.ศานิตย์ รับเงินดังกล่าวจริงหรือไม่ และหากรับจริงจะขัดกับมาตรา 103 พ.ร.บ.ป.ป.ช. หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง สนช. เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 (ป.ป.ช. เผยแพร่ต่อสาธารณะเดือน ธ.ค. 2559) แนบเอกสารประกอบแจ้งว่า ได้รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟฯ ลงนามกำกับโดย พล.ต.ท.ศานิตย์ กระทั่งมีผู้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบจริยธรรม และร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่าอาจขัดต่อมาตรา 103 พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ต่อมาเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2559 พล.ต.ท.ศานิตย์ ส่งคำชี้แจงถึงผู้ตรวจการแผ่นดินว่า เป็นการกรอกผิด เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกเอกสารและนำไปยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2560 สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในบัญชีทรัพย์สิน พล.ต.ท.ศานิตย์ ยังคงแจ้งว่า ได้รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟฯ เช่นเดิม และไม่ได้แจ้งแก้ไขแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : โชว์เอกสาร‘ศานิตย์’ปมรับค่าที่ปรึกษาไทยเบฟ-ผ่านไป3เดือนเพิ่งอ้างกรอกผิด?)
ทั้งนี้ในเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุขั้นตอนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินไว้ โดยมีตอนหนึ่งระบุถึงข้อควรระวังในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯว่า กรณีที่ผู้ยื่นบัญชีฯ มอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ หรือยื่นทางไปรษณีย์ ต้องมั่นใจว่าได้ กรอกข้อมูลในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และแนบสำเนาเอกสารประกอบพร้อมทั้งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนทุกหน้าตามที่กฎหมายกำหนด (อ่านประกอบ : https://www.nacc.go.th/ewt_news.php?nid=780&filename=index)
สำหรับ มาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
โดยตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ข้อ 4 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฏหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ดังต่อไปนี้ (2) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติ มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท
อ่านประกอบ :
'น.1'ปัดรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟ อ้างจนท.ทำเอกสารผิด
เจาะปมเสียภาษี‘ศานิตย์’รับเงินหลายทาง ไฉนแจ้งได้เงินเดือนอย่างเดียว?
จี้‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ย้าย‘ศานิตย์’! ร้อง ป.ป.ช. สอบปมรับเงินค่าที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
บี้‘ศานิตย์’ไขก๊อก ผบช.น.-สนช.! ร้องผู้ตรวจฯสอบปมรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
โชว์ใบเสียภาษี‘ศานิตย์-ภรรยา’แนบมาไม่ชัด-ป.ป.ช.สั่งยื่นใหม่
เก็บเงินสดให้ลูกน้องทำงานทางลับ! ‘ศานิตย์’ แจงปมรายได้-ทรัพย์สินรวม 93 ล.
สมบัติ 93 ล.‘ศานิตย์’ส่วนใหญ่‘แม่-น้า’ ยกให้-รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ด้วย
กางกฏหมาย-ขมวดปม‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ทำได้จริงหรือ?